posttoday

"ผู้อพยพ"ทะลักเข้าเอเชีย ไทยเปิดรับมากสุด

02 เมษายน 2561

ผู้อพยพทั่วโลกหนีสหรัฐ-ยุโรป หันตั้งถิ่นฐานในเอเชีย เนื่องจากได้ค่าแรงสูงและเปิดรับคนเข้าเมืองมากกว่าตะวันตก

ผู้อพยพทั่วโลกหนีสหรัฐ-ยุโรป หันตั้งถิ่นฐานในเอเชีย เนื่องจากได้ค่าแรงสูงและเปิดรับคนเข้าเมืองมากกว่าตะวันตก

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า นโยบายการรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองของสหรัฐและบรรดาประเทศในยุโรปที่เริ่มเข้มงวดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงทัศนคติของประชาชนในพื้นที่ต่อผู้อพยพที่เริ่มติดลบมากขึ้น ส่งผลให้ผู้อพยพทั่วโลกเริ่มหันมาเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเอเชีย ที่มีนโยบายการรับคนเข้าเมืองที่ผ่อนปรนมากกว่าสหรัฐและยุโรป และยังให้อัตราค่าจ้างที่สูงมากขึ้นกว่าในอดีต

รายงานดังกล่าวอ้างผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่า ประเทศเอเชียเปิดรับผู้อพยพกว่า 13.7 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2010 และรับอีก 16.7 ล้านคน ในช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากจากเพียง 1 ล้านคน ในทศวรรษ 1990

สำหรับจำนวนผู้อพยพในสหรัฐที่เคยเป็นประเทศที่เปิดรับผู้อพยพมากถึง 11.6 ล้านคน ในช่วงทศวรรษ 1990 หรือราว 60% ของผู้อพยพทั้งหมด ปรับตัวลงต่อเนื่องมาแตะที่ 9.4 ล้านคน ในทศวรรษ 2000 และ 5.6 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2010 ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายชาตินิยมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผลักดันยกเลิกโครงการลอตโต้วีซ่าที่สุ่มให้วีซ่าพักอาศัยถาวรในสหรัฐแก่ผู้อพยพต่างชาติ

สำหรับไทยนั้นเป็นประเทศที่รับผู้อพยพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกนับตั้งแต่ปี 2000 ที่จำนวน 2.3 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียและเกาหลีใต้รับมากที่สุดรองลงมา ท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงอายุในไทยและเกาหลีใต้ ส่งผลให้รัฐบาลหันมาเปิดรับผู้อพยพ เพื่อใช้เป็นแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 15-64 ปี ของทั้งไทยและเกาหลีใต้จะเริ่มปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020

เรียวทาโร โคโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท บีเอ็นพี พาริบาส ซิเคียวริตี้ส์ สาขาญี่ปุ่น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ผู้อพยพส่วนใหญ่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศแถบยุโรปที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง เนื่องจากได้ค่าแรงสูง แต่เทรนด์การอพยพเข้าเอเชียเริ่มมีมากขึ้น หลังเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง จนผลักดันให้ค่าแรงของบรรดาผู้อพยพสูงขึ้นตามไปด้วย

ภาพ เอเอฟพี