posttoday

กรุงเทพฯสำลักฝุ่นควัน! ติดอันดับเมืองไม่น่าทำงาน

15 มีนาคม 2561

ผู้ให้บริการด้านข้อมูลการดำรงชีวิตในต่างแดน ชี้กทม.ไม่เหมาะสำหรับการพักพิงในระยะยาวเนื่องจากปัญหามลภาวะรุนแรง

ผู้ให้บริการด้านข้อมูลการดำรงชีวิตในต่างแดน ชี้กทม.ไม่เหมาะสำหรับการพักพิงในระยะยาวเนื่องจากปัญหามลภาวะรุนแรง

บริษัท ECA International ผู้ให้บริการด้านข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพและการดำรงชีวิตในต่างแดน เปิดเผยผลการจัดอันดับเมืองในเอเชียที่เหมาะสำหรับการพักพิงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ประจำปี 2018 ผลปรากฏว่า สิงคโปร์ยังคงติดอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับชาวเอเชียที่คิดจะย้ายถิ่นฐานมาทำงานในต่างแดน ตามด้วยเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย และแอดิเลดของออสเตรเลียเช่นกัน

แต่สำหรับกรุงเทพมหานครของไทย นอกจากจะไม่ติดอันดับท็อปในระดับต่างๆ แล้ว ยังเป็นเมืองอันตรายสำหรับการพักพิงในระยะยาวด้วย สาเหตุก็เพราะปัญหามลภาวะที่รุนแรง

ลี เควน ผอ.ฝ่ายเอเชียของ ECA International กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่า กรุงเทพฯ รวมถึงฮ่องกง และมุมไบ ประเทศอินเดีย เป็นเมืองที่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่นี่ จะต้องระมัดระวังและเตรียมตัวให้พร้อมแต่เนิ่นๆ เพราะมีปัญหามลภาวะที่รุนแรงมาก

โดยเฉพาะในไทยมีปัญหาหมอกควันในหลายพื้นที่ ทำให้พนักงานต่างชาติที่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานในไทยต่างรู้สึกกังวลมากขึ้น ถึงขนาดที่พนักงานชาวต่างชาติเริ่มยื่นคำร้องขอย้ายประเทศ หรือเรียกร้องเงินชดเชยที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในประเทศไทย

เควนบอกกับบางกอกโพสต์ว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะแลกหน้าที่การงานในต่างแดนกับการมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ยิ่งต้องพาลูกๆ มาอยู่ด้วยกันแล้ว พวกเขายิ่งไม่เต็มใจ ขณะที่นายจ้างจะต้องเตรียมมาตรการป้องกันให้กับลูกจ้างที่ถูกส่งตัวมาทำงานในเมืองที่สภาพอากาศย่ำแย่อย่าง กรุงเทพฯ ปักกิ่ง และฮ่องกง ขณะที่ลูกจ้างที่รับคำสั่งให้มาประจำการในเมืองเหล่านี้ จะต้องตรวจดัชนีคุณภาพอากาศเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีมลภาวะมีระดับรุนแรงยาวนานนับสัปดาห์ หรืออาจจะยืดเยื้อนานนับเดือน จนไม่คุ้มกับการปฏิบัติงานในเมืองเหล่านี้ และอาจจำเป็นที่พนักงานจะต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกว่าเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีปัญหามลภาวะหนักหน่วงในเวลานี้ เช่น กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่สถานการณ์หนักจนทำให้อันดับตกลงมาอยู่ที่ 126 จากทั้งหมด 486 เมืองทั่วโลก

สำหรับการจัดอันดับครั้งนี้ พิจารณาจากสภาพอากาศ คุณภาพอากาศ ความสะดวกในการรับบริการสาธารณสุข การเสาะที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และความปลอดภัย เป็นต้น

ที่มา www.m2fnews.com