posttoday

อาเซียนมุ่งสู่ยุค 4.0 เนรมิต "สมาร์ทซิตี้"

11 มีนาคม 2561

ชาติอาเซียนต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาชุมชน และร่วมกันผลักดันเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ในภูมิภาค

ชาติอาเซียนต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาชุมชน และร่วมกันผลักดันเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ในภูมิภาค

************************ 

โดย...พรบวร จิรภัทร์วงศ์

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาในสิงคโปร์ ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทซิตี้” โดยชาติอาเซียนต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาชุมชน และร่วมกันผลักดันเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ในภูมิภาค

ทั้งนี้ บริษัทวิจัย อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ได้ให้นิยามพื้นฐานของสมาร์ทซิตี้ไว้ว่าเป็นการสะท้อนถึง “แรงขับเคลื่อนสู่ประสิทธิภาพ” ด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยในยุคที่ชุมชนเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ดีมานด์ด้านต่างๆ ของพลเมืองทะยานขึ้น รัฐบาลจึงต้องหาทางใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การก่อกำเนิดสมาร์ทซิตี้ขึ้นมานั่นเอง

บรรดาชาติอาเซียนนั้นมีความก้าวหน้าในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ข่าวอาเซียนโพสต์รายงานว่า “สิงคโปร์” และ “มาเลเซีย” ถือเป็นแนวหน้าในการรังสรรค์สมาร์ทซิตี้ประจำภูมิภาค

“สิงคโปร์” ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ชื่อ สมาร์ท เนชั่น มุ่งนำเทคโนโลยีหลายด้านมายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และก้าวสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลก โดยภายใต้แผนสมาร์ท เนชั่น สิงคโปร์วางแผนสร้างระบบอำนวยความสะดวกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย อาทิ อี-เพย์เมนต์ ระบบเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางภายในเขตเมือง และตั้งศูนย์ไซเบอร์จัดเก็บข้อมูลระบุตัวตนของประชาชน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมธนาคาร

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเน้นนำอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของประชาชน อีกทั้งยังผสานการให้บริการต่างๆ ของภาครัฐเข้าไปในระบบดิจิทัล โดยเปิดให้ประชาชนใช้งานได้ผ่านอี-แพลตฟอร์ม ในการขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลใช้การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อให้เข้าถึงพลเมืองมากขึ้นและปรับให้ระบบบริการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น

ด้าน “มาเลเซีย” เพิ่งจับมือกับอาลีบาบาเปิดตัวโครงการริเริ่ม มาเลเซีย ซิตี้ เบรน ไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะผลักดันให้กรุงกัวลาลัมเปอร์ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดภายในเขตเมือง โดยใช้ระบบการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ร่วมกับเทคโนโลยีการตรวจจับภาพและวิดีโอเพื่อประเมินสภาพการจราจร

สำหรับการดำเนินการเฟสแรกของโครงการนั้น ระบบจะรวบรวมข้อมูลการจราจรผ่านกล้องตรวจจับ 500 เครื่อง เพื่อประมวลผลข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ในการลดปัญหาการจราจร ขณะที่รัฐบาลจะขยายขอบเขตการจัดเก็บข้อมูลอีกในอนาคต

นอกเหนือจากสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็กำลังเร่งเครื่องสมาร์ทซิตี้เพื่อไม่ให้ตกรถเช่นกัน โดย “อินโดนีเซีย” ตั้งเป้าจะขึ้นเป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และกำลังพัฒนากรุงจาการ์ตาให้เข้าใกล้กับการเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยเบื้องต้นได้เปิดตัว จาการ์ตาวันการ์ด ที่สามารถใช้ชำระค่าบริการต่างๆ ได้แทนเงินสด อาทิ ค่าธรรมเนียมการใช้ขนส่งสาธารณะ รวมถึงเปิดตัวระบบไฟถนนอัจฉริยะด้วย 

ด้าน “ไทย” ได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่างเดลล์ และอินเทล ร่วมพัฒนาโครงการแสนสุขสมาร์ทซิตี้ ในเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี หรือบางแสน โดยมุ่งนำเทคโนโลยีมาสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ท่ามกลางความคาดหวังว่า สมาร์ทซิตี้ดังกล่าวจะปูทางไปสู่นวัตกรรมด้านบริการสุขภาพใหม่ๆ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน ใน “ฟิลิปปินส์” นั้น รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองดาเวา ทางตอนใต้ของประเทศได้ร่วมมือกับไอบีเอ็ม ยักษ์เทคโนโลยีของสหรัฐ ในการพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สอดส่องดูแลความเป็นไปภายในเมืองแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วต่อการรับมือเหตุฉุกเฉิน

ขณะที่ “เวียดนาม” กำลังผลักดันให้เมืองดานัง เมืองท่าทางตอนกลาง ขึ้นเป็นสมาร์ทซิตี้แห่งแรกของประเทศภายในปี 2025 โดยกำลังเจรจากับไอบีเอ็มเพื่อเปิดโครงการริเริ่ม ไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ส์ ที่ไอบีเอ็มจะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบการกำจัดขยะและการควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โลกเร่งเกียร์สมาร์ทซิตี้

ในปัจจุบัน การลงทุนในสมาร์ทซิตี้ของทั่วโลกกำลังมาแรงเช่นกัน โดยสถาบันวิจัย อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (ไอดีซี) รายงานว่า มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ทั่วโลกคาดว่าจะปรับตัวขึ้นแตะ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) ภายในปีนี้ และพุ่งทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 4.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2021

“สมาร์ทซิตี้พัฒนาขึ้นจากกลุ่มก้อนย่อยๆ ของหลายโครงการที่บรรดาบริษัทต่างแยกกันพัฒนาไปสู่โอกาสการลงทุนขนาดมหาศาล ซึ่งจะขับเคลื่อนการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างมากในปีนี้ และในปีต่อๆ ไป” เซเรนา ดาโรลด์ ผู้บริหารโครงการด้านผู้บริโภคของไอดีซี กล่าว 

สำหรับในปี 2018 นี้ ไอดีซีคาดว่า โครงการสมาร์ทซิตี้จะเน้นที่การลงทุนด้านการคมนาคมอัจฉริยะ ความปลอดภัยสาธารณะ พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน โดยไอดีซีคาดการณ์ว่า ระบบการจราจรอัจฉริยะและการตรวจตราความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะจะมีการลงทุนมากที่สุด ตามด้วยระบบไฟนอกอาคารและระบบสอดส่องสภาพแวดล้อม โดยในสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปตะวันตก จะมีการลงทุนพัฒนาระบบการจราจรอัจฉริยะมากที่สุด ด้านระบบการสอดส่องตรวจตราความปลอดภัยนั้น จีนและสหรัฐจะนำระบบการตรวจสอบจากภาพนิ่งมาใช้งานมากที่สุด

ภาพ เอเอฟพี