posttoday

ปลาฟุกุชิมะรังสีน้อย กินกล้วยยังเสี่ยงกว่า

07 มีนาคม 2561

อย่าตื่น! วิจัยเผยปลาจากฟุกุชิมะมีรังสีปนเปื้อนน้อยกว่า รังสีที่พบตามธรรมชาติจากการประทานกล้วย 1 ลูก หรือการเดินทางด้วยเครื่องบิน

อย่าตื่น! วิจัยเผยปลาจากฟุกุชิมะมีรังสีปนเปื้อนน้อยกว่า รังสีที่พบตามธรรมชาติจากการประทานกล้วย 1 ลูก หรือการเดินทางด้วยเครื่องบิน

ช่วงนี้ในบ้านเรามีกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับข่าวการนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะ ที่เคยประสบเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 จนมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิใน จ.ฟุกุชิมะ แพร่กระจายอยู่ในแหล่งน้ำ ด้วยความกังวลว่าเนื้อปลาเหล่านั้นจะยังมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย จนบางคนบอกว่าจะเลิกกินซูชิ

แต่อย่าเพิ่งตกใจกันไป เพราะนอกจากคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า เนื้อปลานำเข้าจากฟุกุชิมะปลอดภัยแล้ว ยังมีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอีกหลายชิ้นที่ยืนยันในทำนองเดียวกัน อาทิ นิโคลัส เอส. ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีนิวเคลียร์ในสัตว์ทะเลประจำมหาวิทยาลัย Stony Brook ในนิวยอร์กของสหรัฐ เผยว่า ปริมาณกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิสู่มหาสมุทรนั้นถือว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล

ฟิชเชอร์ยังกล่าวอีกว่า ปริมาณรังสีในเนื้อปลาจาก จ.ฟุกุชิมะ มีน้อยยิ่งกว่ารังสีที่เราได้รับจากการรับประทานกล้วย 1 ลูก หรือการเดินทางด้วยเครื่องบินเสียอีก อีกทั้งกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นจะไหลเวียนออกไปภายนอกตลอดเวลา ทำให้รังสีอันตรายในพื้นที่เจือจางตามไปด้วย

สอดคล้องกับที่ เคน บอสเซเลอร์ นักรังสีเคมีทางทะเลของสหรัฐ ที่ระบุว่า แม้จะมีการตรวจพบสตรอนเซียม 90 และซีเซียม 137 ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานของสหรัฐ โดยกัมมันตรังสีทั้งสองชนิดมีครึ่งชีวิต 30 ปี คือต้องใช้เวลา 30 ปี ในการสลายตัวตามธรรมชาติจนเหลือปริมาณครึ่งหนึ่งจากจุดเริ่มต้น และจะค่อยๆ หมดไปในที่สุด

ส่วนปริมาณแค่ไหนถึงเป็นอันตรายนั้น โรเบิร์ต เอเมอรี่ จากมหาวิทยาลัย Texas Health Science Center ในเมืองฮุสตัน กล่าวว่า เราต้องกินทูน่าราว 2.5-4 ตันใน 1 ปี หรือเฉลี่ย 6.3-9.9 กก.ต่อวัน จึงจะได้รับซีเซียม 137 ในปริมาณที่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ดี จิม ริคซิโอ นักวิเคราะห์นโยบายนิวเคลียร์ของกลุ่มกรีนพีซ มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสัตว์ทะเลในพื้นที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบจากรังสีหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเพียง 7 ปีเท่านั้น ประกอบกับโรคที่เกิดจากการได้รับรังสี เช่น มะเร็งไทรอยด์ จะต้องใช้เวลาสักระยะจึงปรากฏอาการ นอกจากนี้ ทางกลุ่มกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบก้นทะเลนอกชายฝั่งฟุกุชิมะ เพื่อประเมินให้ชัดเจนว่าสัตว์ทะเลชนิดใดและจำนวนเท่าใดได้รับกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาบ้าง

ที่มา : M2F News