posttoday

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

24 กุมภาพันธ์ 2561

ปัจจุบันเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสโลกก็คือ เรื่องที่แต่ละประเทศเขาคิดทำอะไรกัน เพื่อให้ประเทศของเขานั้นคงอยู่และยิ่งใหญ่ไปถึงลูกถึงหลาน ซึ่งก็คือเรื่องของการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนนั่นเอง

โดย...ทีมงาน โลก 360 องศา

ปัจจุบันเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสโลกก็คือ เรื่องที่แต่ละประเทศเขาคิดทำอะไรกัน เพื่อให้ประเทศของเขานั้นคงอยู่และยิ่งใหญ่ไปถึงลูกถึงหลาน ซึ่งก็คือเรื่องของการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนนั่นเอง จากบทเรียนในยุคที่เศรษฐกิจโลกเติบโตด้วยระบบทุนนิยม สังคมส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการบริโภคนิยม ทำให้มีความต้องการซื้อมากขึ้น ประเทศที่มีความมั่งคั่งก็มีกำลังซื้อมากกว่า ทุกคนจึงมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก บางประเทศสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากสินค้าอุตสาหกรรม บางประเทศส่งออกเทคโนโลยี และอีกไม่น้อยที่ร่ำรวยจากการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่ว่าจะส่งออกอุตสาหกรรมหรือส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และปริมาณทรัพยากรที่ร่อยหรอลงไป จนทำให้ทุกวันนี้เราจึงมาถึงยุคที่เริ่มตระหนักว่า “การสร้างความยั่งยืน” เป็นเรื่องสำคัญ

หลายประเทศได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาคนให้เก่ง อีกหลายประเทศส่งเสริมให้คนพึ่งพาตนเองให้ได้ ในขณะที่มีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยคิดหาวิธีจัดการกับทรัพยากรให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เราจึงได้พบเห็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองของหลายประเทศ เห็นการจัดการกับดิน จัดการกับน้ำและจัดการกับอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้คนก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในหลายแขนงมากขึ้น ทั้งความมั่นคงด้านการเมือง ความมั่นคงด้านพลังงาน และความมั่นคงด้านอาหาร

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

ตัวอย่างใกล้ตัวที่รายการ โลก 360 องศา เคยไปถ่ายทำสารคดีก็คือ ประเทศบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีจากรัฐและไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลบรูไนก็เริ่มตระหนักแล้วว่าการหวังพึ่งพิงรายได้จากทรัพยากรตลอดไปนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะวันหนึ่งทุกสิ่งต้องหมดไป เขาจึงเริ่มพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับป่าไม้ แร่ธาตุ และสัตว์น้ำควบคู่กันกับการพัฒนาบ้านเมือง ผู้คน มีการตั้ง “กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่วางแผนและส่งเสริมอุตสาหกรรม และการลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง

ทั้งนี้ รัฐบาลบรูไนมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเหล่านั้น สามารถป้อนผลผลิตที่เพียงพอให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น อีกทั้งจะทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันอนาคต ในวันที่น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหมดไป หรือไม่ก็มีความต้องการน้อยลง อันอาจเป็นผลมาจากการที่มีแหล่งพลังงานอื่นเข้ามาแทน ในขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไว้เป็นอีกทางเลือกของแหล่งรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาแก้ปัญหา และสร้างสิ่งทดแทนได้หลายๆ อย่างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ดังนั้นก็เรายังจำเป็นต้องคิดต้องทำ เพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงอยู่กับเราต่อไป อีกประเด็นหนึ่งที่รายการโลก 360 องศา เรานำเสนออยู่ทุกปี นั่นคือเรื่องของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านพลังงาน เพราะว่าปัจจุบันนี้ทุกๆ เทคโนโลยีและทุกๆ การพัฒนาล้วนต้องการพลังงานที่มั่นคงทั้งนั้น ประเทศไหนที่มีแหล่งพลังงานที่เพียงพอและมั่นคงประเทศนั้น ก็มีโอกาสในการสร้างความมั่นคงได้มากกว่าประเทศอื่น ดังนั้น เรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นวาระสำคัญของทุกประเทศ และไม่ใช่เพียงแค่มั่นคงเท่านั้นต้องมั่นคงอย่างยั่งยืนด้วย

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสิ่งที่ตามมาก็คือ ความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น ทำให้ประเทศนี้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อยู่หลายโรง ในขณะเดียวกันก็มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนอยู่มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่แม้จะไม่ได้ใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลัก แต่ก็สามารถจัดการกับปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องของขยะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่าทุกประเทศก็อยากทำได้แบบเยอรมนี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและความมีวินัยของประชาชน

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าจัดการกับขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก วิธีคิดที่เขาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืนก็คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน บวกกับกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้มีการคัดแยกและจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบสามารถนำไปรีไซเคิล หรือนำไปเผาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อีกต่างหาก เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ประเทศอื่นก็อาจมีวิธีการจัดการกับขยะและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่ารูปแบบและวิธีการของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปบ้าง คงไม่สามารถสรุปได้ว่าใครทำผิดใครทำถูกวิธี เพราะทุกประเทศก็ต้องมองถึงผลประโยชน์ของคนในชาติตนเองเป็นหลัก จะคิดจะทำอะไรก็ต้องให้สอดคล้องกับปัจจัยในประเทศของตัวเองมองไปที่ผลระยะยาวทั้งนั้น

เมื่อพูดถึงโมเดลต่างๆ ที่จะสร้างความยั่งยืน หลายๆ ประเทศก็มักนึกถึงการพัฒนา เทคโนโลยี การคิดค้นวิธีจัดการใหม่ๆ ในขณะที่บางประเทศเขามองไปที่การจัดการกับแนวคิดการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นหลัก คือ ถ้าลดการบริโภคนิยมลง ลดการใช้ทรัพยากร อย่างฟุ่มเฟือยลง พร้อมๆ กับหล่อหลอมให้คนอยู่อย่างพอเพียง ก็จะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขได้ แม้จะใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ก็มีความสุขได้ ซึ่งนั่นแหละที่เขาบอกว่าจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ประเทศภูฏานกับแนวคิด GNH หรือ Gross National Happiness ที่วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ จากความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดการพัฒนาแบบทุนนิยม เพราะเขามองว่าถ้าสามารถทำ 4 เสาหลักให้แข็งแรง
ได้การพัฒนาไปสู่ความสุขที่แท้จริงก็เป็นไปได้ ซึ่ง 4 เสาหลักที่ว่านั้นก็ประกอบไปด้วย 1) การบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล 2) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 3) การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4) การให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับแนวคิด ของความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นในภูฏานก็กระตุ้นให้ทั่วโลกได้ฉุกคิดว่า ความมั่งคั่งทางการเงินอาจไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ยิ่งผลโหวตเกี่ยวกับประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลกออกมา ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ก็ยิ่งทำให้ชัดว่ารวยที่สุดก็ใช่ว่าจะมีความสุขที่สุด

คนเดนมาร์กเองก็มีปรัชญาความสุขที่เรียกว่า “ฮู๊กกก-เกอะ” จุดเริ่มต้นมาจากวิธีการใช้ชีวิตง่ายๆ ให้มีความสุข เนื่องจากเดนมาร์กมีฤดูหนาวที่ยาวนาน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีกิจกรรมกลางแจ้งให้สนุกสนานกันมากนัก แทนที่จะอยู่อย่างหดหู่และเงียบเหงาภายใต้อากาศที่หนาวเหน็บและท้องฟ้าที่มืดครึ้ม พวกเขาจึงต้องหาวิธีที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุขให้ได้การนั่งอยู่หน้าเตาผิง ห่มผ้า หรือสวมเสื้อกันหนาวอุ่นๆ นั่งอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือพูดคุยกับครอบครัว ภายใต้แสงเทียน พร้อมกับจิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ไปด้วยกัน เพียงแค่นี้ชีวิตก็แสนจะฮู๊กกก-เกอะ ปัจจุบันนี้ คำว่า ฮู๊กกก-เกอะ หรือที่บางคนออกเสียงว่า “ฮูก้า” กลายเป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มักใช้ในความหมายของความสุขสบายที่มาพร้อมกับความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ

คิดให้ยาวมีโอกาสยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยเราเองนั้น ต้องบอกว่าคนไทยโชคดีมากที่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีใจความสำคัญคือการเดินทางสายกลาง กินอยู่พอประมาณ ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี แม้ว่าแนวคิดนี้จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้กับยุคสมัยปัจจุบัน เพราะการดำเนินชีวิตเช่นนี้จะทำให้เรามีชีวิตที่มีความสมดุลพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกสถานการณ์นั่นเอง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามชมเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้เพิ่มเติมทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 ทุกเช้าวันอาทิตย์ เวลา 08.00-08.30 น.