posttoday

แบงก์ทั่วโลกกำไรพุ่ง

21 กุมภาพันธ์ 2561

แบงก์เอกชนกำไรก่อนหักภาษีพุ่ง ท่ามกลางการปรับลดพนักงาน หลังประหยัดทุน-เครื่องจักรแทนที่

แบงก์เอกชนกำไรก่อนหักภาษีพุ่ง ท่ามกลางการปรับลดพนักงาน หลังประหยัดทุน-เครื่องจักรแทนที่

ผลกำไรก่อนหักภาษีของธนาคารเอชเอสบีซีปรับขึ้น 141% ในปี 2017 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.33 แสนล้านบาท) เนื่องจากธนาคารหันไปมุ่งเจาะตลาดเอเชีย โดยการขยายตัวในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก เนื่องจากการค้าในเอเชียที่แข็งแกร่ง และการปล่อยกู้ให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งเส้นทางการค้า 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน

เอชเอสบีซีเป็นหนึ่งในธนาคารหรือสถาบันการเงินเดียวที่มีผลกำไรสดใสในปีที่ผ่านมา โดยโนมูระ โฮลดิ้ง มีผลกำไรช่วงไตรมาส 3 ปี 2017 ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี โดยอยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านเยน (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) หลังธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์แข็งแกร่งตามตลาดหลักทรัพย์โลก ขณะที่เคพีเอ็มจีคาดการณ์ว่า ธนาคารเอเอ็นแซดจะทำกำไรได้ทุบสถิติในปี 2017 ที่ผ่านมา

ด้านธนาคารดอยช์แบงก์ จากเยอรมนี เปิดเผยว่า ผลกำไรก่อนหักภาษีของธนาคารอยู่ที่ 1,300 ล้านยูโร (ราว 5 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกำไรหักภาษีของดอยช์แบงก์ ทำให้ธนาคารขาดทุนราว 1,400 ล้านยูโร (ราว 5.4 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการปฏิรูปภาษีของสหรัฐที่เก็บภาษีกับรายได้ในต่างแดนในอัตราเดียวที่ 15.5% สำหรับสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด และ 8% สำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด ทำให้บรรดาธนาคารต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่รอการตัดบัญชีใหม่

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ดอยช์แบงก์กำลังจะปรับลดพนักงานในส่วนธนาคารเพื่อการลงทุน 500 คน ซึ่งปรับลดไปแล้ว 250 คนจากจำนวนดังกล่าว

ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์ปรับลดพนักงานราว 3,500 อัตรามาตั้งแต่ปี 2015 เพื่อประหยัดต้นทุนราว 3,800 ล้านยูโร (ราว 1.48 แสนล้านบาท) โดยในปี 2015-2016 ดอยช์แบงก์ขาดทุนรวมราว 7,000 ล้านยูโร (ราว 2.74 แสนล้านบาท)

ด้านธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แบงก์หลักของออสเตรเลีย เริ่มต้นปรับลดพนักงานลง 1,000 อัตราแล้ว หลังประกาศแผนจะปรับลดให้ได้ 6,000 อัตราภายในปี 2020 เพื่อประหยัดทุนราว 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักรและเทคโนโลยี