posttoday

ถอดบทเรียน 4 ชาติ ลุยกำราบ "ปืน" อยู่หมัด

18 กุมภาพันธ์ 2561

ส่องมาตรการควบคุมอาวุธปืนของ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ส่องมาตรการควบคุมอาวุธปืนของ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สลดรับวันแห่งความรักในสหรัฐ โดย นิโคลัส ครูซ วัย 19 ปี ใช้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ รุ่นเออาร์-15 กราดยิงภายในโรงเรียนมัธยมปลาย มาร์จอรีย์ สโตนแมน ดักลาส ทางตอนเหนือของเมืองไมอามีของรัฐฟลอริดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 24 ราย โดยนับเป็นเหตุกราดยิงในรั้วโรงเรียนที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดในดินแดนแห่งเสรีภาพ ขณะที่เหตุสลดเช่นนี้แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันแล้ว โดยนับเป็นการกราดยิงในเขตโรงเรียนครั้งที่ 18 หลังจากเริ่มต้นปี 2018 หรือเกิดขึ้นแทบจะทุกสัปดาห์ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เหตุกราดยิงปลุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายการควบคุมปืนของประเทศ

สำหรับสหรัฐค่อนข้างเปิดกว้างด้านการครอบครองปืน ส่งผลให้ประชาชนแทบทุกคนมีปืนในครอบครอง แต่เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นซ้ำซากเริ่มกระตุ้นให้ชาวอเมริกันหลายรายเรียกร้องการจำหน่ายหรือครอบครองปืน แต่ก็ไม่มีทีท่าจะประสบความสำเร็จเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สหรัฐไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมปืน โดยหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมความรุนแรงจากปืน และประสบความสำเร็จอย่างสูง

ทั้งนี้สำนักข่าวบิซิเนสอินไซเดอร์ ได้รวบรวมมาตรการควบคุมปืนของ 4 ชาติ จากทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร โดยทั้ง 4 ชาติ มีวิธีการควบคุมปืนที่แตกต่างกันออกไป

ออสซี่จ่ายเงินซื้อคืนปืน

ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 นั้น ออสเตรเลียมีกฎการควบคุมปืนที่หย่อนยาน ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวกับปืนอยู่บ่อยครั้ง โดยแม้ว่าบางรัฐในออสเตรเลียจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมการขายปืนบางชนิด แต่รัฐบาลกลางไม่มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมปืนที่ครอบคลุมพอ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี เหตุสังหารหมู่ในเมืองพอร์ตอาเธอร์ในรัฐแทสมาเนียของประเทศในปี 1996 ได้กระตุ้นให้รัฐบาลหันมาเข้มงวดกับการซื้อขายปืนมากขึ้น โดย มาร์ติน ไบรอันต์ วัย 28 ปี ซื้อปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติจำนวน 2 กระบอก แม้ไม่มีใบอนุญาต และลงมือกราดยิงฝูงชนในร้านค้าและท้องถนน จนมีผู้เสียชีวิต 35 ราย และบาดเจ็บอีก 25 ราย โดยนับเป็นเหตุกราดยิงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย

ภายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด ผลักดันร่างกฎหมายการควบคุมอาวุธปืนแห่งชาติเข้าสู่รัฐสภา โดยรัฐสภาผ่านมติร่างดังกล่าว หลังจากเกิดเหตุกราดยิงเพียง 12 วัน ทั้งนี้ร่างกฎหมายมีใจความสำคัญคือการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบประวัติก่อนซื้อปืนและโครงการซื้อคืนปืนอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ และปืนลูกซองแบบปั๊มแอ็กชั่น หรือโหลดยิงทีละนัด เพื่อนำมาทำลาย

ภายหลังจากเริ่มโครงการซื้อคืนได้ไม่กี่เดือน รัฐบาลได้ซื้อคืนปืนจำนวนกว่า 6 แสนกระบอก ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากปืนลดลงกว่าครึ่ง ขณะที่มาตรการคุมปืนยังได้ผลในระยะยาว โดยเหตุการฆ่าตัวตายจากการใช้ปืนปรับตัวลงจาก 2.2% ในประชากร 1 แสนราย เมื่อปี 1995 เป็น 0.8% ในปี 2006 ขณะที่เหตุการฆาตกรรมโดยใช้ปืนปรับตัวลง 0.37% เป็น 0.15%

อย่างไรก็ดี หากสหรัฐออกมาตรการซื้อคืนในลักษณะเดียวกัน รัฐบาลอาจต้องทำลายปืนกว่า 40 ล้านกระบอก หากคิดตามจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีปืนในประเทศ แม้ว่าการบังคับใช้กฎในแต่ละรัฐจะเข้มงวดแตกต่างกัน ทำให้จำนวนปืนที่รัฐบาลอาจต้องซื้อคืนไม่มากเท่าจำนวนดังกล่าวก็ตาม

ถอดบทเรียน 4 ชาติ ลุยกำราบ "ปืน" อยู่หมัด

ญี่ปุ่นตั้งด่านทดสอบโหด

 

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎการควบคุมปืนที่เข้มงวดที่สุดในโลก ทั้งนี้ผู้ที่ประสงค์จะซื้อปืนต้องเข้ารับการอบรม ทำข้อสอบข้อเขียน ทำคะแนนให้ได้ 95% ในการทดสอบความแม่นยำในการยิงปืน ผ่านการตรวจสุขภาพจิต และผ่านการตรวจประวัติอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะผ่านการทดสอบแล้ว ก็สามารถซื้อได้แค่ปีนลูกซองและปืนลมไรเฟิล ที่พกพาลำบากต่างกับปืนพก อีกทั้งยังต้องเข้าอบรมและทำข้อสอบทุก 3 ปี

ทั้งนี้ มาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากปืนในญี่ปุ่นอยู่ที่กว่า 10 ราย/ปี จากประชากรกว่า 127 ล้านคน โดยพื้นฐานกฎหมายควบคุมปืนของญี่ปุ่นแตกต่างกับสหรัฐที่ ให้ปืนเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น และจึงออกกฎหมายเพื่อผ่อนคลายการขายปืน ขณะที่กฎหมายสหรัฐนั้นให้การครอบครองปืนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจึงออกกฎหมายเพื่อเพิ่มความเข้มงวด

นอร์เวย์สร้างสัมพันธ์ประชาชน

หากเทียบกับสหรัฐแล้ว อัตราการครอบครองปืนในนอร์เวย์อยู่ที่ 1 ใน 3 ของประชากรร้อยคน หรือ 1.3 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 5.2 ล้านคน เมื่อปี 2011 แต่อัตราการเสียชีวิตจากปืนอยู่ที่ 1 ใน 10 จากประชากร 1 แสนคนเท่านั้น หรือน้อยกว่าสหรัฐเกือบ4 เท่า

ทั้งนี้ นักสังคมวิทยาหลายรายระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากปืนที่น้อยดังกล่าวเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่แนบแน่นระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน ที่ส่งผลให้เกิดสังคมที่สงบเสงี่ยม โดยรัฐบาลนอร์เวย์เปิดเผยเมื่อปี 2015 ว่า จำนวนครั้งที่ตำรวจนอร์เวย์ยิงปืนเพื่อสกัดคนร้ายหรือยิงขู่ตลอด 9 ปี จนถึงปี 2014 อยู่ที่ 26 ครั้ง ขณะที่มีผู้บาดเจ็บจากการถูกตำรวจยิงเพียงแค่ 12 คน หรือน้อยกว่าจำนวนคนที่ถูกยิงโดยตำรวจสหรัฐในวันเดียว

ด้าน กุมมี อัดด์สัน นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเธิร์น มิชิแกน ในสหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลนอร์เวย์ได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างตำรวจและประชาชน โดยหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐสามารถหยิบยกมาใช้ในประเทศได้ คือ การสนับสนุนปรัชญาที่ให้ตำรวจนั้นเปรียบเสมือน “ผู้รับใช้ชุมชน”

ทั้งนี้ ปรัชญาดังกล่าว คือ การให้ตำรวจเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยปรัชญาดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ตำรวจสามารถเข้าใจความต้องการในแต่ละชุมชนได้ ส่งผลให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ก่อนที่จะบานปลาย

 

ถอดบทเรียน 4 ชาติ ลุยกำราบ "ปืน" อยู่หมัด

 

อังกฤษประยุกต์ใช้ทุกกลวิธี

สำหรับสหราชอาณาจักรนั้น ได้ประยุกต์ใช้วิธีการทั้ง 3 อย่างข้างต้น ในการแก้ไขปัญหาด้านความรุนแรงที่เกิดจากปืน ภายหลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ดันเบลนเมื่อปี 1996 ที่ โธมัส ฮามิลตัน ใช้ปืนพกกว่า 4 กระบอก กราดยิงในโรงเรียนประถมดันเบลนในเมืองสเตอร์ลิงก์ของสกอตแลนด์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 17 ราย ส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 7.5 แสนคน ลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายควบคุมปืน

หลังจากเหตุการกราดยิงในโรงเรียนเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวของอังกฤษเพียงปีเดียว รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ผ่านร่างกฎหมายควบคุมการครอบครองปืน โดยร่างดังกล่าวแบนการครอบครองปืนพกทุกชนิดบนเกาะอังกฤษ และแบนการครอบครองปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนปั๊มแอ็กชั่นในสหราชอาณาจักร อีกทั้งยังบังคับผู้ครอบครองปืนลูกซองต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล

ร่างดังกล่าวยังรวมถึงโปรแกรมซื้อคืนปืน โดยรัฐบาลลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ในการซื้อคืนปืนจำนวนกว่า 1.6 แสนกระบอก และกระสุนปืนกว่า 700 ตัน ภายในปีเดียวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

กฎหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ครอบครองปืน โดยเว็บไซต์กันโพลิซีย์ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมปืน ระบุว่า จำนวนคนที่มีปืนในครอบครองของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2010 อยู่ที่ 3.78% ขณะที่สหรัฐมีสัดส่วนอยู่ที่ 101% ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากปืนในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 50-60 ราย/ปี จากประชากร 56 ล้านคน ส่วนสหรัฐ ที่แม้จะมีประชามากกว่าสหราชอาณาจักร 6 เท่า แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิตจากปืนมากกว่า 160 เท่า

*******************

เรื่องโดย...พรบวร จิรภัทร์วงศ์

ภาพ...เอเอฟพี