posttoday

ญี่ปุ่นยืดเวลารับเงินบำนาญ หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

18 กุมภาพันธ์ 2561

ญี่ปุ่นผ่านแผนยืดเวลารับเงินบำนาญจนถึงอายุ 71 ปี หวังเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ญี่ปุ่นผ่านแผนยืดเวลารับเงินบำนาญจนถึงอายุ 71 ปี หวังเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติแผนขยายเวลาที่ชาวญี่ปุ่นจะขอรับเงินบำนาญไปได้ถึงอายุมากกว่า 71 ปี จากในปัจจุบันที่อายุ 60-70 ปี เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นสามารถทำงานได้นานขึ้น พร้อมจะผลักดันให้เอกชนยืดอายุการเกษียณงาน หรือขยายโครงการจ้างงานหลังเกษียณ ในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังผลักดันแผนการดังกล่าว ด้วยการจะเตรียมแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในปีงบประมาณ 2020 เพื่อสนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นอายุมากกว่า 60 ปี สามารถทำงานต่อได้ รวมถึงจะยืดอายุการเกษียณงานของข้าราชการจำนวน 3.4 ล้านคน ในขณะนี้ ไปเป็น 65 ปี จาก 60 ปี ในปัจจุบัน

รายงานระบุว่า แม้ตามกฎหมายแล้วชาวญี่ปุ่นสามารถเลือกรับเงินบำนาญได้ในช่วงอายุ 60-70 ปี โดยหากเลือกรับเงินหลัง 65 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนเพิ่มขึ้น แต่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่กำหนดให้พนักงานเกษียณตอนอายุ 60 ปี ทำให้การเกษียณงานหลัง 60 ปี เกิดขึ้นไม่มากนัก

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น ระบบการขับขี่รถอัตโนมัติและหุ่นยนต์พยาบาล เพื่อช่วยให้คนสูงอายุสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

“หลายพื้นที่คาดว่าจะมีจำนวนประชากรลดลง ขณะที่กลุ่มคนสูงอายุกำลังปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ การสร้างสังคมที่ผู้คนจากทุกช่วงวัยสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมได้ในวงกว้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ กล่าวพร้อมเสริมว่า กลุ่มคนสูงอายุในปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนรุ่นก่อนๆ และมีความกระตือรือร้นสูงมากทั้งในการทำงานและการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

ด้านรอยเตอร์สรายงานว่า ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากอัตราการเกิดในประเทศลดลงต่อเนื่อง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรจะลดลงมาอยู่ที่ 88 ล้านคน ในอีก 40 ปีข้างหน้า จากในปัจจุบันที่ 127 ล้านคน ขณะที่ญี่ปุ่นไม่มีทีท่าผ่อนปรนกฎหมายรับผู้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศด้วยเช่นกัน

รายงานระบุว่า ด้วยเหตุนี้ อาเบะจึงพยายามผลักดันให้คนสูงอายุยังสามารถทำงานต่อได้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรูปแบบการทำงาน เพื่อกระตุ้นศักยภาพการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภาพ เอเอฟพี