posttoday

โลกแห่ทิ้งบอนด์ทุบสถิติใหม่

17 กุมภาพันธ์ 2561

นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากกองทุนตราสารหนี้ทะลุ 4.3 แสนล้านในรอบสัปดาห์ มากสุดนับตั้งแต่ปี 2016 หวั่นเงินเฟ้อกดดันเฟดขึ้นดอกเบี้ย

นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากกองทุนตราสารหนี้ทะลุ 4.3 แสนล้านในรอบสัปดาห์ มากสุดนับตั้งแต่ปี 2016 หวั่นเงินเฟ้อกดดันเฟดขึ้นดอกเบี้ย

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานอ้างบริษัท อีพีเอฟอาร์ โกลบอล ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุน ทั่วโลกว่า มูลค่าเงินทุนไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้ ที่รวมถึงจังก์บอนด์ ในรอบสัปดาห์จนถึงวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นแตะ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.3 แสนล้านบาท) หรือสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์ และยังสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากบรรดานักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากกองทุนตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว จนเกิดความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

รายงานระบุว่า มูลค่าเงินทุนไหลออกจากกองทุนพันธบัตรอัตราผลตอบแทนสูง ที่ไม่รวมจังก์บอนด์ ปรับตัวขึ้นแตะ 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.4 แสนล้านบาท) ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ บรรดาตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยมูลค่าเงินทุนไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ ปรับตัวขึ้นแตะ 3,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 1 แสนล้านบาท)

ด้านซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่างปรับตัวขึ้นทำสถิติใหม่ โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี แตะที่ 2.213% หรือมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี แตะที่ 2.944% หรือสูงที่สุดรอบ 4 ปี ก่อนจะปรับตัวลงเล็กน้อยไปแตะที่ 2.910% ในช่วงการซื้อขายเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี ก็ปรับตัวขึ้นแตะ 2.687% หรือมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2010

สำหรับรายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ประจำเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้น 0.4% ส่งผลให้ตลอดช่วง 12 เดือน สิ้นสุดที่เดือน ม.ค.ปรับตัวขึ้น 2.5% หรือปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2014 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ปรับตัวขึ้น 0.5% หรือมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.3%

รอยเตอร์สรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องดังกล่าวกดดันผลตอบแทนจากตราสารหนี้ ทำให้นักลงทุนเริ่มทยอยเทขายบอนด์ โดยความวิตกเรื่องอัตราเงินเฟ้อขยายตัว ซึ่งจะเร่งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังส่งผลให้เกิดแรง เทขายในตลาดหุ้นด้วยเช่นกันช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมองว่าการ เทขายหุ้นดังกล่าวเป็นการปรับฐาน และไม่มีแนวโน้มส่งผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟดภายในเดือน มี.ค.นี้ และอีก 2 ครั้งภายในปี 2018 โดย รอเลตตา เมสเตอร์ ผู้ว่าการเฟดสาขาคลีฟแลนด์ เปิดเผยว่า แม้การแห่เทขายหุ้นส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐกลับมาปรับตัวขึ้นแล้ว โดยเมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ. ตลาดหุ้นสหรัฐต่างปิดปรับตัวในแดนบวก โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดบวก 306.88 จุด เช่นเดียวกับดัชนีเอสแอนด์พี 500  และดัชนีแนสแด็กที่ปรับขึ้น 1.21% และ 1.58% ตามลำดับ