posttoday

ฝรั่งเศสปักหมุดไทยกระชับสัมพันธ์ยุโรป

13 กุมภาพันธ์ 2561

การกลับมาของฝรั่งเศสครั้งนี้จะนำไทยไปสู่ความสัมพันธ์ยกระดับไปอีกขั้นกับฝรั่งเศสและอียู

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ภายใต้การนำของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนใหม่อายุน้อยของฝรั่งเศส ที่กำลังเดินหน้าการปฏิรูปประเทศอย่างแข็งขันนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่า "ฝรั่งเศสได้กลับมาแล้ว" เพื่อผงาดขึ้นเป็นแนวหน้านำพาสหภาพยุโรป (อียู) อีกครั้ง 

ในฐานะที่ไทยเป็นมิตรประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับฝรั่งเศสมาถึง 161 ปี การกลับมาของฝรั่งเศสครั้งนี้จะนำไทยไปสู่ความสัมพันธ์ยกระดับไปอีกขั้นกับฝรั่งเศสและอียู ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวัฒนธรรม

ระหว่างการเดินทางเยือนไทยครั้งแรกของ ฌอง-บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12-13 ก.พ. เลอมวนกล่าวว่า มาครง ผู้นำใหม่อายุน้อย และรัฐบาลชุดใหม่ถือเป็น "โมเมนตัมเชิงบวก" สำหรับฝรั่งเศสในการพานานาประเทศก้าวสู่อนาคต

เลอมวนได้ย้ำความเชื่อมั่นเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส อีกทั้งยังแสดงความคาดหวังปักหมุดไทยเป็นประตูสู่การกระชับความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน

สำหรับการกระชับสายสัมพันธ์นั้น เลอมวนกล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังมุ่งเพิ่มความร่วมมือกับไทยใน 3 ด้านหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการศึกษา

เศรษฐกิจ

ในขณะนี้ เลอมวนกล่าวว่าฝรั่งเศสมีความพร้อมอย่างมากในการเป็นผู้นำประเทศยุโรปสานสัมพันธ์กับไทยและอาเซียน โดยรัฐบาลประธานาธิบดี มาครง กำลังผลักดันการปฏิรูปประเทศหลายด้าน เช่น ด้านการปฏิรูปภาษีที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เอกชนฝรั่งเศสทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ได้มากขึ้นต่อไป

สำหรับไทยนั้นจะได้รับอานิสงส์จากแผนการดังกล่าวอย่างยิ่ง เนื่องจากไทยเป็นตลาดและจุดหมายการลงทุนอันดับสองของฝรั่งเศสในอาเซียน ซึ่งฝรั่งเศสสามารถเป็นประตูในการส่งออกสินค้าหรือเป็นต้นน้ำการผลิตของบริษัทไทยเพื่อป้อนตลาดยุโรปต่อไป

จากความพร้อมด้านนโบายดังกล่าว เลอมวนยังย้ำว่าจะให้การสนับสนุนโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านคมนาคม

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสจะหารือการเข้าสู่ตลาดภาคส่วนต่างๆ ของไทย และดำเนินการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียูด้วย เพราะมองว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากข้อตกลงการค้าระดับพหุภาคีครั้งนี้ ซึ่งจะปูทางไปสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยอี-คอมเมิร์ซและเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้ไทยและอียูเริ่มเจรจาเอฟทีเอครั้งแรกเมื่อปี 2013 แต่ชะลอการเจรจาไป 4 ครั้ง  เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนธ.ค. 2017 นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางอียูกำลังพิจารณารื้อการเจรจาเอฟทีเอกับไทยขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งของไทย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังอียูลงมติให้ฟื้นความสัมพันธ์กับไทยทุกระดับ

ธุรกิจ

นอกจากนโยบายภาครัฐแล้ว ภาคธุรกิจฝรั่งเศสกำลังเร่งเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือด้านการลงทุนกับไทยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านคมนาคม การบิน อวกาศ และการผลิตอาหาร โดยคณะตัวแทนสภานายจ้างและผู้ประกอบการฝรั่งเศส (เมดเดฟ) ในไทย ได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสช่วงก่อนหน้านี้เพื่อสรรหาธุรกิจต่างๆ ที่มีศักยภาพเพื่อมาร่วมลงทุนในไท

นอกจากนี้ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เมดเดฟเพิ่งลงนามบันทึกความเข้าใจกับภาคเอกชน 3 สถาบันไป โดยเฉพาะด้านธนาคารและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงจะเตรียมเน้นเพิ่มการร่วมมือกับเอกชนด้านคมนาคมและพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน

ขณะที่วันที่ 5 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เมดเดฟจะจัดงานอีเวนต์ภาคธุรกิจ เพื่อเป็นเวทีให้ภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มาพบปะกัน ในการหารือยกระดับการลงทุนต่างๆ ตามเป้าหมายโครงการอีอีซีและไทยแลนด์ 4.0

"ผมคาดหวังว่าจะมีการเจรจาการลงทุนใหม่ๆ ระหว่างทั้งบริษัทไทยและฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้เราจะไม่เสียเวลาอีกต่อไปแล้ว และฝรั่งเศสพร้อมมีส่วนร่วมกับโครงการด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในไทยอย่างเต็มที่" เลอมวน กล่าว

การศึกษาและวัฒนธรรม

นอกจากยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและธุรกิจแล้ว การกระชับความร่วมมือเชิงวัฒนธรรมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและการจัดการกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของสมาคมฝรั่งเศสในไทยเป็นไปอย่างคึกคัก ส่งผลให้ขณะนี้ไทยมีผู้พูดภาษาฝรั่งเศสได้แล้วกว่า 5 คน

เลอมวนกล่าวว่า ในการสานต่อด้านดังกล่าว ฝรั่งเศสจะผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น โดยจะส่งเสริมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง