posttoday

"การทูตลิปสติก" พลิกภาพลักษณ์โสมแดง

11 กุมภาพันธ์ 2561

การส่งสาวงามมาเป็นตัวแทนประเทศมาร่วมให้กำลังใจนักกีฬาเกาหลีเหนือโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปี 2018 ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "การทูตลิปสติก"

โดย...พรบวร จิรภัทร์วงศ์

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา มหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปี 2018 หรือ พยองชาง 2018 เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2006 ที่นักกีฬาจากเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเดินสวนสนามร่วมกันภายใต้ "ธงเดียวกัน"

นอกจากภาพความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักกีฬาสองเกาหลีแล้ว จุดสนใจหลักอีกอย่างคือการที่เกาหลีเหนือส่งสมาชิกครอบครัวเดินทางเยือนเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีปี 1950-1953 โดย "คิมโยจอง" น้องสาวของ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองของประเทศคือผู้นำตัวแทนประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อคิมโยจองถึงเกาหลีใต้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายแห่งทั่วโลกต่างพร้อมใจกันขนานนามน้องสาวคิมจองอึนว่าเป็น "เจ้าหญิงแห่งเกาหลีเหนือ" ในทันที จากภาพลักษณ์อันอ่อนหวานงดงาม

ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีเหนือยัง ส่ง "กองทัพสาวงาม" กว่า 230 คน มาร่วมให้กำลังใจนักกีฬาเกาหลีเหนือในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยกองเชียร์สาวสวยกลุ่มดังกล่าวล้วนมาจากตระกูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเปียงยาง และมีความสามารถทั้งทางด้านดนตรี รวมถึงเป็นหญิงสาวอายุน้อยหน้าตาสะสวย ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือคัดเลือกมาให้เป็นตัวแทนของประเทศในโอกาสพิเศษต่างๆ

การส่งสาวงามมาเป็นตัวแทนประเทศในครั้งนี้ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "การทูตลิปสติก" ตามทัศนะของ ซูคีคิม นักข่าวชาวเกาหลีใต้ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ผู้เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปียงยาง ซึ่งเป็นการใช้ "ความอ่อนหวาน" ของผู้หญิงมาช่วยลดทอนภาพลักษณ์และนโยบายกลาโหมอัน "แข็งกร้าว" ของเกาหลีเหนือในสายตาชาวโลก หลังท่านผู้นำคิมจองอึนเปิดเผยว่าต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี

ทว่า การทูตลิปสติกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก โดยล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือได้ส่ง ฮยองซองวอล หัวหน้าเกิร์ลกรุ๊ปไอดอล "โมรันบง" ที่คิมจองอึน ผู้นำของประเทศคัดเลือกสมาชิกกว่า 10 คนด้วยตนเอง มาตรวจสอบเวทีการแสดง โดยฮยองซองวอลจะนำวงออร์เคสตรา "ซัมจียอน" ที่ขึ้นชื่อของเกาหลีเหนือ พร้อมสมาชิกอีกกว่า 140 คน ขึ้นแสดงในเกาหลีใต้ช่วงการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้

 

"การทูตลิปสติก" พลิกภาพลักษณ์โสมแดง

นอกจากนี้ ตัวอย่างหนึ่งของการทูตลิปสติกของเกาหลีเหนือยังปรากฏอยู่ในร้านอาหารของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เช่น ร้านอาหารเกาหลีเหนือในกรุงพนมเปญของกัมพูชา ซึ่งมีจุดขายที่บรรดาพนักงานเสิร์ฟสาวสวยคอยทำหน้าที่ขับร้องและเต้นรำในร้านเพื่อเอาใจลูกค้า

อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของการทูตลิปสติกนี้กลับมีที่มาจากเกาหลีใต้ โดยอดีตประธานาธิบดี คิมแดจุง ของเกาหลีใต้ วิตกว่าการจัดงานเอเชียนเกมส์เมื่อปี 2002 จะมีผู้มาเข้าชมน้อยเกินไป จึงได้ส่งผู้แทนพิเศษเข้าพบ คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือในสมัยนั้น เพื่อขอให้พิจารณาส่งกองเชียร์หญิงสาวสวย เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวด้วย โดยคาดหวังว่ากองเชียร์สาวจะสามารถดึงดูดผู้ชมในเกาหลีใต้ให้เข้าร่วมชมเอเชียนเกมส์มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คิมจองอิล จึงถือโอกาสผลักดันนโยบายการทูตลิปสติก โดยยินยอมส่งกองเชียร์ที่ประกอบไปด้วยหญิงสาวจำนวน 288 คน เข้าร่วมการแข่งขันในเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก และดึงดูดผู้ชมได้มากตามที่คาดหวัง จากการที่ชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบกองเชียร์ ดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเสน่ห์

ขณะที่สื่อเกาหลีใต้มักจะยกย่องกองเชียร์หญิงจากเกาหลีเหนือว่า มีความงามที่บริสุทธิ์และไร้เดียงสา ซึ่งเปรียบเสมือนความงามตามแบบฉบับชาวเกาหลี หรือแตกต่างกับหญิงชาวเกาหลีใต้ที่นิยมทำศัลยกรรม แม้ว่าบรรดาหญิงชาวเกาหลีเหนือที่มาจากครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มีอิทธิพล ก็มักจะนิยมทำศัลยกรรมเช่นกันก็ตาม

"การทูตลิปสติก" พลิกภาพลักษณ์โสมแดง

ลิปสติกเริ่มเสื่อมเสน่ห์

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพอันแปลกใหม่ของกองเชียร์หญิงที่เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งกรีฑาในเกาหลีใต้เมื่อปี 2005 ช่วยลดภาพลักษณ์อันแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือลง และยังเป็นทิศทางที่ดีต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเกาหลี แต่การทูตลิปสติกดังกล่าวกลับเริ่มเสื่อมมนตร์ขลังในปัจจุบัน หลังมีผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือมายังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีมากกว่า 3 หมื่นคนแล้วในปัจจุบัน

หญิงสาวกลุ่มดังกล่าวจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมรายการเรียลิตี้ชื่อ "สาวงามผู้แปรพักตร์" เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ชีวิตอันลำบากยากแค้นในบ้านเกิดที่เกาหลีเหนือ ขณะที่บางส่วนสมัครเข้ารายการตามหาคู่รัก ส่งผลให้ภาพลักษณ์อันบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของสาวเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้มลายหายไป

นอกจากนี้ การที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของเกาหลีเหนือได้มากกว่าคนรุ่นเก่า ทำให้เกิดกระแสเอือมระอากับนโยบายการทูตลิปสติกของเกาหลีเหนือและการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการรวมชาติ ซึ่งมีกองเชียร์สาวงามเป็นตัวละครหลัก และเริ่มตระหนักว่า นโยบายดังกล่าวเริ่มนำไปสู่ "การแบ่งแยกทางเพศ"

ซูคีคิม ผู้เขียนบทความได้ยกตัวอย่างกรณีการตัดสินใจให้นักกีฬาฮอกกี้หญิงของเกาหลีเหนือจำนวน 12 คนเข้าร่วมกับทีมเกาหลีใต้ ทำให้นักกีฬาบางรายต้องหลุดออกจากทีมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวเกาหลีใต้รุ่นใหม่จำนวนมาก เนื่องจากเป็นการทำลายความฝันของนักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างหนัก เพื่อแลกกับเหตุผลทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้ชาวเกาหลีใต้เองจะเริ่มตื่นจากมนตร์เสน่ห์ของการทูตลิปสติกอันงดงามสดใส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ใบหน้ายิ้มแย้มของบรรดาหญิงสาวจากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะฮยองซองวอล จะยังคงปรากฏในข่าวหน้าหนึ่งของสื่อเกาหลีใต้ตลอดช่วงการแข่งโอลิมปิกครั้งนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดี มุนแจอิน ผู้เคยหาเสียงว่าจะผลักดัน "นโยบายตะวันฉาย" เพื่อสร้างสัมพันธ์ฉันมิตรกับเกาหลีเหนือยิ่งขึ้นนั้น ก็จะเดินหน้านโยบายสายพิราบดังกล่าวต่อไป ด้วยความหวังว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีอาจนำไปสู่อุดมคติในการรวมชาติ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ ไม่กี่เดือน รัฐบาลเปียงยาง บ้านเกิดของบรรดากองเชียร์ดังกล่าวเพิ่งยิงทดสอบขีปนาวุธไปตกข้างประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น จนทวีความตึงเครียดภายในภูมิภาคก็ตาม