posttoday

บุรุษไม่ฟิต เพราะฤทธิ์ยาแก้ปวด?

10 มกราคม 2561

วิจัยชี้ ทานยาแก้ปวด"ไอบูโพรเฟน" ทำฮอร์โมนเพศชายเสื่อม

วิจัยชี้ ทานยาแก้ปวด"ไอบูโพรเฟน" ทำฮอร์โมนเพศชายเสื่อม

ผลการศึกษาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการแพทย์ในฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ชี้ ไอบูโพรเฟน และยาแก้ปวดที่ซื้อหาได้ง่ายทั่วไปกระทบการทำงานของอัณฑะ เช่น ลดเชื้ออสุจิ ฮอร์โมนเพศชาย ความต้องการทางเพศ รวมถึงกระทบต่อสุขภาพสำคัญอื่นๆ จนส่งผลให้ชายวัยหนุ่มแน่นหรือกำลังเจริญพันธุ์มีระดับฮอร์โมนเพศลดถอยเหมือนชายวัยกลางคน

การศึกษาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการศึกษาผลกระทบการใช้ยาประเภทไอบูโพรเฟนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งทดสอบและได้ผลลัพธ์ว่า สตรีมีครรภ์ที่ทานยาระงับอาการปวดที่จัดจำหน่ายโดยทั่วไปตามร้านขายยา โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์กำกับ ได้แก่ แอสไพริน อะเซตามีโนเฟนหรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน มีผลกระทบต่ออัณฑะของทารกเพศชายที่เกิดมา นอกจากนี้ยังเพิ่มแนวโน้มภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกเพศชายด้วย

กลุ่มผู้ทำการค้นคว้าจึงตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับผลการค้นพบนี้ว่า "แล้วผู้ใหญ่ที่บริโภคยาระงับปวดจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่?" โดยเฉพาะ ไอบูโพรเฟน ซึ่งแสดงผลข้างเคียงมากที่สุด และเป็นยาที่นักกีฬาระดับอาชีพเลือกใช้มากที่สุด เนื่องจากไม่มีสารสเตียรอยด์

  

  บุรุษไม่ฟิต เพราะฤทธิ์ยาแก้ปวด?

 การทดลองได้ให้อาสาสมัครชาย 31 ราย อายุระหว่าง 18-35 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 14 คน ทานยาไอบูโพรเฟน 1,200 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 14 วัน ส่วนอีก 17 คน ทานยาหลอกที่ไม่มีฤทธิ์ต่อการรักษาใดๆ

ผลการตรวจสอบหลังจากการทดลอง 14 วัน พบว่า ฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโตของเซลล์อสุจิของกลุ่มที่ทานไอบูโพรเฟนตอบสนองต่อระดับไอบูโพรเฟนในเลือด โดยระดับฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเทอโรน และฮอร์โมนกระตุ้นอสุจิ บ่งชี้ว่าร่างกายอยู่ในภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ ส่งผลให้เกิดภาวะเจริญพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ภาวะโรคซึมเศร้า และมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าปกติ

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการทดลองชี้ว่า ฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติของชายกลุ่มทดลองจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในภายหลัง เนื่องจากใช้ไอบูโพรเฟนแค่ชั่วคราว แต่ไม่สรุปว่า ผลสุขภาพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มผู้ใช้ยาไอบูโพรเฟนเป็นประจำหรือระยะยาว และยืนยันว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในข้อสงสัยนี้ รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ เช่น ผลกระทบจะเป็นอย่างไรหากระดับการใช้ไอบูโพรเฟนน้อยกว่าการทดลอง (น้อยกว่า 1,200 มก.ต่อวัน)

การศึกษาดังกล่าวยังเป็นที่สนใจในกลุ่มผู้ค้นคว้าด้านการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.มิสซูรี่ เมืองโคลอมเบีย ของสหรัฐ ที่เชื่อว่า การศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันในฝรั่งเศสและเดนมาร์กเล็กน้อยแต่สำคัญ เนื่องจากไอบูโพรเฟนเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด และยาจำนวนมากที่ผู้คนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์มีผลข้างเคียงต่อระบบสืบพันธุ์ โดยที่เภสัชกรผู้จ่ายยาส่วนใหญ่ละเลยที่จะเตือนผู้ซื้อ

 ที่มา : M2FNews