posttoday

ขยะสร้างรายได้ "พลาสติกแบงก์" ต่ออายุท้องทะเล

31 ธันวาคม 2560

เป้าหมายของ "พลาสติกแบงก์" คือการทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลกลายเป็นสิ่งที่ “มีค่า” และสามารถสร้างรายได้ให้ประชากรที่ยากจน

โดย...พรบวร จิรภัทร์วงศ์

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิ้ลยูอีเอฟ) เปิดเผยว่า มีขยะพลาสติกหลากประเภท อาทิ ถุงพลาสติกไปจนถึงขวดน้ำถูกทิ้งลงสู่ท้องทะเลมากถึงกว่า 8 ล้านตัน/ปีในขณะที่อัตราการผลิตพลาสติกทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ราว 300 ล้านตัน/ปี จึงอาจบ่งชี้ได้ว่าปริมาณพลาสติกที่จะถูกทิ้งลงทะเลมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้การทิ้งขยะพลาสติกเกลื่อนทะเลจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศใต้น้ำ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้รับการรณรงค์อย่างแพร่หลายและบ่อยครั้งจากบรรดาองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งบ่อยครั้งบรรดาผู้รักธรรมชาติมักจะเรียกร้องให้มีการทำความสะอาดทะเล ขจัดพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำบริโภคพลาสติกและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม กิจการเพื่อสังคมอย่าง “พลาสติกแบงก์” มีมุมมองการแก้ปัญหาขยะเกลื่อนท้องทะเลที่แตกต่างออกไป

“การทำความสะอาดทะเลเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราควรทำ” เดวิด แคตซ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งธนาคารพลาสติก ระบุกับเดอะ การ์เดี้ยน

องค์กรแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2013 จากชายชาวแคนาดา 2 คน ได้แก่ เดวิด แคตซ์ และ ชอน แฟรงก์สัน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลกลายเป็นสิ่งที่ “มีค่า” และสามารถสร้างรายได้ให้ประชากรที่ยากจน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกเกลื่อนทะเลภายในประเทศกำลังพัฒนา ที่รายล้อมด้วยมหาสมุทร เช่นเฮติ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศดังกล่าวมักมีระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้หากเกิดฝนตกจนน้ำท่วมขัง ขยะเหล่านั้นก็จะถูกกระแสน้ำพัดไหลลงสู่ทะเลในที่สุด

“จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดจากคำเปรียบเปรยที่ว่า หากคุณเดินเข้ามาในห้องครัวและเห็นว่าตัวเองลืมปิดก๊อกน้ำ จนน้ำเอ่อล้นท่วมออกนอกอ่างล้างจ้าน ในขณะนั้นคุณกำลังถือไม้ถูพื้นอยู่ด้วย สิ่งแรกที่คุณจะทำคืออะไร แน่นอนว่าคุณต้องปิดก๊อกน้ำก่อนเป็นอันดับแรก” แฟรงก์สันระบุกับสำนักข่าวซีบีซีจากแคนาดา

ด้วยความมุ่งมั่นนี้ศูนย์รับซื้อขยะพลาสติกขององค์กรพลาสติกแบงก์แห่งแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในเฮติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรยากจนมากที่สุดในโลก โดยแฟรงก์สันระบุว่า บริษัทรับซื้อพลาสติกในอัตราที่สูงกว่าในตลาดทั่วไป 3 เท่า จึงสามารถดึงดูดคนให้นำขยะมาขายกับองค์กรได้ อีกทั้งยังอนุญาตให้นำพลาสติกมาแลกเป็นสิ่งของหรือบริการ อาทิ น้ำมันพืช อินเทอร์เน็ตไว-ไฟ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เวาเชอร์สำหรับแลกคอร์สการเรียนการสอน

ขณะเดียวกันบริษัทยังนำพลาสติกดังกล่าวมาแปรรูปสำหรับการใช้งาน อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หมุนเวียนต่อไป

วิธีการดังกล่าว ซึ่งมุ่งแก้ไขทั้งปัญหาสภาพแวดล้อมและปัญหาความยากจน จึงเป็นที่มาของวลีว่า “โซเชียลพลาสติก” ซึ่งกลายมาเป็นชื่อแบรนด์พลาสติกแปรรูปของบริษัท ในขณะที่ไอเดียดังกล่าวยังสามารถดึงดูดผู้คนให้มาร่วมรณรงค์การใช้พลาสติกรีไซเคิลได้จำนวนมาก

กิจการของพลาสติกแบงก์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยซีบีซีเปิดเผยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าปริมาณขยะพลาสติกที่มีคนเก็บและมาจำหน่ายกับทางองค์กรอยู่ที่เกือบ 5 แสนกิโลกรัม/ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทเพิ่งจะขยายกิจการออกไปยังฟิลิปปินส์ต่อจากเปรูและเฮติ

ทั้งนี้ องค์กรยังมีแผนจะขยายเพิ่มไปยังอินโดนีเซีย เอธิโอเปีย อินเดีย และบราซิล ภายในปี 2018 นี้ด้วย

ขณะเดียวกันเป้าหมายของพลาสติกแบงก์ยังสามารถดึงดูดแบรนด์ดังระดับโลกให้เข้ามาร่วมทำธุรกิจได้มากมาย อาทิ บริษัทน้ำมันเชลล์ บริษัท มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ รวมไปถึงบริษัท เฮงเค็ล จากเยอรมนี ซึ่งมีแบรนด์ในเครืออย่างผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ชวาร์สคอฟ เป็นต้น

แมรี-อีฟ ชโครเดอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดระหว่างประเทศกลุ่มสินค้าด้านความงามของเฮงเค็ล ระบุว่า จุดมุ่งหมายของพลาสติกแบงก์ดึงดูดเฮงเค็ลให้ร่วมทำธุรกิจด้วย เพราะเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ดำเนินธุรกิจที่ส่งผลดีต่อทั้งธรรมชาติและสังคม รวมถึงยังสร้างช่องทางการหารายได้ประจำให้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง

“ผู้ที่เก็บขยะพลาสติกมาจำหน่ายกับพลาสติกแบงก์มักจะเป็นคนไร้บ้าน ดังนั้นการที่พวกเขาได้รับโทรศัพท์มือถือพร้อมเบอร์จากการแลกพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมระหว่างพวกเขากับสังคม” ชโครเดอร์กล่าวกับเดอะ การ์เดี้ยน

ด้วยเหตุนี้ เฮงเค็ลจึงได้ตกลงจรดปากกาเป็นพาร์ตเนอร์ของพลาสติกแบงก์ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ โดยเฮงเค็ลให้เงินช่วยเหลือองค์กรในการสร้างศูนย์รับซื้อขยะพลาสติกภายในเฮติเพิ่มอีก 3 แห่ง ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปีหน้า

เฮงเค็ลยังเตรียมนำพลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาจากพลาสติกแบงก์และองค์กรอื่นๆ มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าของบริษัทครั้งแรกภายในกลางปี 2018 เพื่อตอบสนองเสียงของผู้บริโภค ที่เริ่มเรียกร้องการรักษาสภาพแวดล้อม ในขณะที่บริษัทกำลังทำการวิจัย เพื่อนำโซเชียลพลาสติกมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์

ขยะสร้างรายได้ "พลาสติกแบงก์" ต่ออายุท้องทะเล

ก้าวสู่ยุคใหม่

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พลาสติกแบงก์จับมือกับไอบีเอ็มบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐ เปิดตัวแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนในนาม “พลาสติกแบงก์” โดยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถใช้เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สมาร์ทวอลเล็ต เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร หรือไม่ต้องการพกเงินสดติดตัวจำนวนมาก

แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังสามารถใช้บันทึกประวัติและปริมาณพลาสติกที่ผู้ใช้เก็บมาถึงปัจจุบัน และใช้สะสมเครดิต ที่ได้จากการจำหน่ายพลาสติกให้องค์กร เพื่อใช้ในการแลกซื้อสินค้ากับร้านค้า ที่ร่วมมือกับองค์กรอีกด้วย

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวเปิดให้ทดลองใช้ใน 4 ประเทศ ได้แก่ เฮติ ฟิลิปปินส์ บราซิล และแอฟริกาใต้ โดยองค์กรจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้ให้ง่ายต่อการใช้งาน แม้แต่กับคนที่ไม่ถนัดใช้สมาร์ทโฟนก็ตาม

บรรลุเป้าหมาย

ความสำเร็จของพลาสติกแบงก์นั้นยังสามารถการันตีได้ด้วยรางวัล “โมเมนตัม ฟอร์ เชนจ์ : ไลท์เฮาส์” ในสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2017 ภายในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อวันที่ 6-17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยรางวัลดังกล่าวซึ่งมอบให้โดยยูเอ็นประจำทุกปีนั้น จะมอบให้แก่องค์กรทั่วโลกที่มีผลงานโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ

แฟรงก์สัน เปิดเผยว่า โดยรวมแล้วองค์กรได้แสดงให้ทั่วโลกเห็นวิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเกลื่อนท้องทะเล ซึ่งก็คือการเพิ่มคุณค่าของขยะพลาสติกเอง

“เราได้พิสูจน์แล้วว่าองค์กรเราเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะเราแสดงตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ถ้าขยะพลาสติกแต่ละชิ้นมีค่าเท่ากับ 5 ดอลลาร์ (แคนาดา) คุณจะไม่มีทางเห็นเศษขยะพลาสติกอีกเลยในอเมริกาเหนือ” แฟรงก์สัน กล่าว