posttoday

สเปนวุ่นไม่จบ พ่ายเลือกตั้งกาตาลันอีกครั้ง

23 ธันวาคม 2560

ยังไงก็จะแยก! ฝ่ายหนุนเอกราช “กาตาลุญญา”ครองสภาอีกครั้ง หลังเลือกตั้งครั้งใหม่

ยังไงก็จะแยก! ฝ่ายหนุนเอกราช “กาตาลุญญา”ครองสภาอีกครั้ง หลังเลือกตั้งครั้งใหม่

รัฐบาลสเปนต้องประสบความพ่ายแพ้และอาจทำให้ปัญหาความพยายามแบ่งแยกดินแดนต้องยืดเยื้อออกไปอีก เมื่อแนวร่วม3 พรรคการเมืองแนวชาตินิยมกาตาลัน เฉือนชนะการเลือกตั้งในแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวานนี้ โดยคว้าที่นั่งผู้แทนในรัฐสภาท้องถิ่นไป 70 จาก 135 ที่นั่ง

“นี่คือผลลัพธ์ที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ รัฐสเปนคือฝ่ายพ่ายแพ้ ราฮอยและพันธมิตรของเขาคือผู้แพ้” การ์เลส ปุยจ์เดอมองต์ อดีตผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญา ที่นำการรณรงค์ประกาศเอกราชจากสเปน แถลงขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศเบลเยียม

 

สเปนวุ่นไม่จบ พ่ายเลือกตั้งกาตาลันอีกครั้ง ผู้คนในบาร์เซโลน่า ฉลองชัยชนะการเลือกตั้ง

 

 ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า แม้พรรคพีเพิลส์ปาร์ตี ที่สนับสนุนสเปนและคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราช จะได้เสียงโหวตมากที่สุด 37 ที่นั่ง แต่แนวร่วมพรรคที่สนับสนุนการแยกตัว 3 พรรค สามารถรวมคะแนนเสียงได้ 70 ที่นั่ง นำโดยพรรคของปุยจ์เดอมองต์ ที่ได้ 34 ที่นั่ง ทำให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น และยังสะท้อนว่าปัญหาความพยายามแบ่งแยกดินแดนที่คุกรุ่นก่อนหน้านี้ยังไม่จบลงง่ายๆ

ด้านนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอยของสเปน เปิดประชุมฉุกเฉินทันทีเมื่อช่วงเช้าวานนี้ เพื่อหาแผนการรับมือสถานการณ์ต่อไป ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า แม้ชัยชนะของแนวร่วมกาตาลันจะเฉียดฉิว และภายในแนวร่วมเองก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในยุทธศาสตร์ของราฮอย และบ่งชี้ว่ากาตาลุญญายังมีความแยกแยกกันอยู่มาก ที่อาจนำไปสู่ความพยายามแยกเอกราชขึ้นอีก

 

สเปนวุ่นไม่จบ พ่ายเลือกตั้งกาตาลันอีกครั้ง นายปุยด์เดมองต์

 

 “นี่คือห้วงเวลาสำคัญที่ทั้งรัฐบาลสเปนและกลุ่มสนับสนุนการแยกดินแดนต้องหันหน้ามาเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้ง เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ถือว่าเป็นไฟเขียวสนับสนุนการประกาศเอกราชของกาตาลุญญา แต่เป็นสัญญาณของการเจรจาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน” เอลมาร์ บร็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวเยอรมันในรัฐสภายุโรป กล่าวกับบลูมเบิร์ก

 

สเปนวุ่นไม่จบ พ่ายเลือกตั้งกาตาลันอีกครั้ง พรรคท้องถิ่นกาตาลุญญาชนะการเลือกตั้ง

 

 ด้านโฆษกรัฐบาลเยอรมนี กล่าวเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลสเปนและแนวร่วมกาตาลันหันหน้าปรองดองกัน พร้อมเคารพในหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศ 

ทั้งนี้ สเปนประกาศใช้มาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญปี 1978 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. เพื่อขับปุยจ์เดอมองต์และแกนนำในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ปัจจุบัน ปุยจ์เดอมองต์
ลี้ภัยในเบลเยียมขณะที่แกนนำบางรายยังติดคุกรอการพิจารณาคดีอยู่