posttoday

เบื้องลึกเบื้องหลังสังหารหมู่นองเลือดที่ "อียิปต์"

27 พฤศจิกายน 2560

เบื้องลึกกลุ่มคนร้ายบุกก่อเหตุสังหารหมู่นองเลือดที่มัสยิด ในประเทศอียิปต์ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 305 คน

เบื้องลึกกลุ่มคนร้ายบุกก่อเหตุสังหารหมู่นองเลือดที่มัสยิด ในประเทศอียิปต์ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 305 คน

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายบุกเข้าสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่กำลังประกอบศาสนกิจในมัสยิดอัลรอฎียะฮ์ ในเมืองบีร์อัลอับด์ ประเทศอียิปต์ พุ่งขึ้นถึง 305 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กๆ ถึง 27 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 128 คน นับเป็นการสังหารหมู่ที่นองเลือดที่สุดในปีนี้ และคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของขบวนการรัฐอิสลาม หรือไอเอส เนื่องจากปากคำของผู้รอดชีวิตระบุว่า ผู้ก่อเหตุบุกเข้ามาพร้อมกับธงสัญลักษณ์ของไอเอส แล้วตะโกนว่า "อัลลอฮุอักบัร" (อัลลอฮ์ทรงยิ่งใหญ่) จากนั้นก็เปิดฉากกราดยิงไม่เลือกหน้า

แต่สิ่งที่น่าจะสร้างความกังขาให้กับชาวโลกก็คือ เหตุใดขบวนการรัฐอิสลามจึงต้องลงมือเข่นฆ่าชาวมุสลิมด้วยกัน? คำตอบน่าจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดของชาวมุสลิมที่ประกอบศาสนกิจในมัสยิดอัลรอฎียะฮ์ เป็นมุสลิมในลัทธิศูฟี ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีวิถีการปฏิบัติที่เน้นการเข้าถึงพระเจ้าโดยตรงผ่านพิธีกรรมแบบต่างๆ ด้วยความที่มีวิธีปฏิบัติที่ต่างจากมุสลิมกลุ่มหลัก จึงมักเป็นเป้าหมายของการโจมตีของขบวนการเคร่งศาสนาหัวรุนแรงอยู่เสมอ

ลัทธิศูฟีเน้นการสอนด้วยพิธีกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ผู้ที่จะชี้แนะแนวทางในการเข้าถึงพระเจ้าโดยตรง พิธีกรรมในลัทธินี้มีทั้งการภาวนา การร้องเพลง บรรเลงดนตรี การเต้นรำจนเกิดภวังค์

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการเคารพอาจารย์ที่มีชื่อเสียง หรือนักบุญที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งนิกายหลักๆ ของศาสนาอิสลามชี้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ทำให้สาวกของลัทธิศูฟีถูกโจมตีและกวาดล้างมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ขบวนการรัฐอิสลาม (ไอเอส) กำลังเฟื่องฟู ได้มีการทำลายสถานที่แสวงบุญของชาวศูฟีในหลายพื้นที่ และล่าสุดคือเหตุการสังหารหมู่ที่คาบสมุทรไซไน ประเทศอียิปต

เบื้องลึกเบื้องหลังสังหารหมู่นองเลือดที่ "อียิปต์"

 

นอกจากไอเอสแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้วิธีรุนแรงกำจัดลัทธิศูฟี เช่น รัฐบาลอิหร่านที่เป็นฝ่ายนิกายชีอะฮ์ ได้มีการจับกุมตัวสาวกศูฟีไปควบคุมตัวหลายพันคน ในปากีสถานขบวนการเคร่งศาสนากลุ่มต่างๆ ใช้วิธีการเอาชีวิตชาวศูฟี เช่น การใช้คาร์บอมบ์ หรือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีตามงานเทศกาลทางศาสนา ส่วนในอียิปต์ ก่อนหน้านี้ในยุคของอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก รัฐบาลให้ความคุ้มครองทุกศาสนาและความเชื่อ แต่หลังสิ้นยุคมูบารัก กลุ่มศูฟีถูกเล่นงานอย่างหนักจากสายเคร่งศาสนา เช่น ศาสนสถานหลายแห่งถูกเผาทิ้ง และถูกขัดขวางการประกอบพิธี

นอกจากความขัดแย้งเรื่องความเชื่อแล้ว สาวกศูฟีบางกลุ่มยังถูกสังหาร เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงข้ามกับกลุ่มหัวรุนแรง เช่น เอฟเฟนดี ชีร์เกสกี้ ผู้นำลัทธิศูฟีในดาเกสถาน ประเทศรัสเซีย ที่ถูกลอบสังหารในปี 2012 ด้วยมือระเบิดฆ่าตัวตาย คาดว่าเพราะเขาเป็นตัวตั้งตัวตีวิจารณ์กลุ่มหัวรุนแรง และเป็นผู้พยายามประสานไมตรีระหว่างมุสลิมกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน

ทั้งนี้ ด้วยความที่ศูฟีถูกกวาดล้างจากมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐและโลกตะวันตก ทำให้สื่อตะวันตกมักเสนอแนะว่า สหรัฐควรสนับสนุนกลุ่มศูฟีในการต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

ภาพ...เอเอฟพี 

ที่มา www.m2fnews.com