posttoday

รัสเซียพบกัมมันตรังสีในประเทศสูงถึง 1,000 เท่า

22 พฤศจิกายน 2560

ตะลึง! ทางการรัสเซียตรวจพบกัมมันตรังสีสูงกว่าระดับปกติเกือบพันเท่า แต่ยังปฏิเสธเสียงแข็งไม่ใช่ต้นเหตุกัมมันตรังสีที่ตรวจพบทั่วยุโรป

ตะลึง! ทางการรัสเซียตรวจพบกัมมันตรังสีสูงกว่าระดับปกติเกือบพันเท่า แต่ยังปฏิเสธเสียงแข็งไม่ใช่ต้นเหตุกัมมันตรังสีที่ตรวจพบทั่วยุโรป

รอยเตอร์ - หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของรัสเซีย หรือ “รอสไฮโดรเม็ต” เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า ตรวจพบมลพิษกัมมันตรังสีที่เกิดจากไอโซโทปของธาตุ “รูทีเนียม106”  ในระดับที่สูงมาก โดยสูงกว่าระดับปกติถึงเกือบ 1,000 เท่าที่บริเวณเทือกเขาอูราล ทางใต้ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานนิวเคลียร์ชื่อ “มายัค” ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และผลิตสารกัมมันตรังสีขนาดใหญ่ของรัสเซียเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมและงานวิจัย โดยโรงงานแห่งนี้เป็นของ “รอสอะตอม” รัฐวิสาหกิจนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย

นอกจากนี้รอสไฮโดรเม็ต ยังยอมรับด้วยว่า ไอโซโทปกัมมันตรังสีของรูทีเนียม106 สามารถจะถูกดูดซึมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและสามารถแพร่กระจายไปถึงยุโรปได้ สอดคล้องกับรายงานก่อนหน้านี้ของ ไออาร์เอสเอ็น หรือสถาบันความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ในฝรั่งเศสที่เผยว่า มีการตรวจพบเมฆกัมมันตรังสีระดับสูงในชั้นบรรยากาศปกคลุมหลายประเทศในฝรั่งเศสช่วงต้นวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการสันนิฐานว่า กลุ่มเมฆดังกล่าวอาจปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ในแถบรัสเซียหรือคาซัคสถานช่วงปลายเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตามหลังมีรายงานของไออาร์เอสเอ็นเผยออกมา ทางการรัสเซียและคาซัคสถานต่างปฏิเสธว่าไม่มีอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์เกิดขึ้นในประเทศของตน ในขณะที่บริษัทรอสอะตอมซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานนิวเคลียร์ที่สันนิฐานว่าเป็นต้นเหตุของการปล่อยธาตุรูเทเนียม-106 ต่างก็ออกมาปฏิเสธ เช่นเดียวกับสถาบันฟิสิกส์นิวเคลียร์ของคาซัคสถานต่างก็ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตน และไม่มีการใช้รูทีเนียม106 ในพื้นที่ทดสอบนิวเคลียร์เพื่อการวิจัยของตนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฝรั่งเศสพบ 'เมฆกัมมันตรังสี' ลึกลับกระจายทั่วยุโรป