posttoday

'ซูจี'แถลงเรียกร้องเผย3แนวทางแก้วิกฤตโรฮีนจา

13 ตุลาคม 2560

นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา เรียกร้องความสามัคคีในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมเตรียมจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขสถานการณ์โรฮีนจาใน3แนวทาง

นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา เรียกร้องความสามัคคีในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมเตรียมจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขสถานการณ์โรฮีนจาใน3แนวทาง

นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์แห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสดีที่ผ่านมา มีใจความสำคัญที่เรียกร้องความเป็นเอกภาพและความปรองดองของทุกชาติพันธุ์ในประเทศ และกล่าวว่ารัฐบาลเตรียมจัดตั้งคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่

โดยนางซูจีกล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วทั่วโลก ว่าในขณะนี้โลกกำลังจับตามองสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการโจมตีสำนักงานตำรวจ เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว  จากนั้นมีการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้งในเดือนส.ค.ของปีนี้ ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายเรื่อยๆ ซึ่งจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เกิดคำวิพากย์วิจารณ์ประเทศของเราอย่างมาก แม้ว่าในความเป็นจริง จะไม่มีใครเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศของเราได้อย่างถ่องแท้เหมือนเรา ไม่มีใครปรารถนาสันติภาพและการพัฒนาแก่ประเทศของเราได้มากเท่าคนในประเทศ  จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องแก้ปัญหาเหล่านี้โดยใช้ความเป็นเอกภาพที่เป็นจุดแข็งของเรา"

นางซูจีระบุว่า ประเทศของเราจำต้องเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องต่างๆอย่างถูกต้อง โดยมีภารกิจสามประการที่ต้องเร่งดำเนินการคือ

1.ส่งกลับบรรดาผู้อพยพที่ข้ามเข้าไปในบังกลาเทศและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่
2.ตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้อพยพเหล่านี้ใหม่และเร่งฟื้นฟูจิตใจและ
3.พัฒนาภูมิภาคดังกล่าวและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้่นอย่างแท้จริง

ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา กล่าวว่า "เรายังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และขณะนี้ เรากำลังเจรจากับรัฐบาลบังกลาเทศเกี่ยวกับการรับผู้อพยพกลุ่มนี้ และที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นนี้กับรัฐบาลบังกลาเทศสองครั้งด้วยกัน และขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างเจรจารอบที่สาม ขณะที่เรากำลังทำงานเพื่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานใหม่ และฟื้นฟู เราจำเป็นต้องทำงานไม่ใช่เพียงเพื่อกลุ่มคนที่จะกลับจากบังกลาเทศเท่านั้นแต่เราต้องทำงานเพื่อชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม

นางซูจี กล่าวด้วยว่า ในการพัฒนารัฐยะไข่ครั้งนี้  รัฐบาลเมียนมา ได้เชิญองค์กร หน่วยงานจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ อาทิ หน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติ สถาบันการเงินต่างๆ อาทิเช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)  บรรดาเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ  ตลอดจนประเทศพันธมิตรของเมียนมาทุกประเทศ