posttoday

นักวิทย์พบแล้วต้นตอทำทุเรียนกลิ่นแรง

11 ตุลาคม 2560

นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของทุเรียนเป็นครั้งแรกของโลก โดยระบุถึงยีนที่ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นแรง และชี้ทุเรียนมีบรรพบุรุษร่วมกับต้นคาเคาที่ใช้ผลิตช็อกโกแลต

นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของทุเรียนเป็นครั้งแรกของโลก โดยระบุถึงยีนที่ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นแรง และชี้ทุเรียนมีบรรพบุรุษร่วมกับต้นคาเคาที่ใช้ผลิตช็อกโกแลต

ทุเรียน ราชาผลไม้ของไทย ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นแรงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีทั้งคนที่ชอบและทนกลิ่นของมันไม่ไหว จนโรงแรมหรือรถสาธารณะติดป้ายห้ามนำทุเรียนเข้ามา แต่ล่าสุดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ได้ค้นพบความลับที่มาของกลิ่นฉุนแรงนี้ และยังสืบสาวไปถึงวงศ์ตระกูลของผลไม้มีหนามชนิดนี้ที่มีวิวัฒนาการตั้งแต่ 65 ล้านปีที่แล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันมะเร็งแห่งชาติและสถาบันการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ 5 คน ซึ่งชอบรับประทานทุเรียนเป็นทุนเดิม ใช้เวลา 3 ปีศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของทุเรียนสายพันธุ์มูซังคิงของมาเลเซียที่มีกลิ่นรุนแรงที่สุดและสายพันธุ์อื่น โดยการทำแผนที่ดีเอ็นเอของราชาผลไม้เป็นครั้งแรกของโลก

การศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Genetics ระบุว่า ในจำนวนยีน 46,000 ยีนของทุเรียน ซึ่งมากกว่ายีนของมนุษย์ 2 เท่า มียีนตัวหนึ่งที่ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นรุนแรง นั่นคือ MGL ซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารระเหยประเภทกำมะถัน โดยพบในทุเรียนถึง 4 เซต ในขณะที่พืชอื่นมียีนดังกล่าวเพียง 1 หรือ 2 เซตเท่านั้น และยีนนี้จะยิ่งทำงานหนักขึ้นเมื่อทุเรียนเริ่มสุก ส่งผลให้ทุเรียนส่งกลิ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ

แพทริก ตัน หนึ่งในทีมวิจัย เผยว่า กลิ่นที่บางคนบอกว่าเหม็นนี้ทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเมื่ออยู่ในป่า ซึ่งก็คือ ดึงดูดให้สัตว์ป่ามากินลูกทุเรียนที่ต้นและช่วยแพร่กระจายเมล็ดเพื่อเป็นการขยายพันธุ์

นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งกลุ่มนี้ยังพบอีกว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ราชาแห่งผลไม้มีบรรพบุรุษร่วมกับต้นคาเคาซึ่งฝักถูกนำมาสกัดเป็นช็อกโกแลต ก่อนจะค่อยๆ พัฒนายีนของตัวเองจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน รวมทั้งมีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับฝ้ายอีกด้วย

ทีมวิจัยหวังว่าการค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพของผลไม้ที่เป็นที่ชื่นชอบของหลายคนมากขึ้น และอาจนำไปสู่การพัฒนาทุเรียนที่มีกลิ่นเบาบางลง ลดปริมาณน้ำตาลเพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน หรือการลดระยะเวลาการปลูกและการสุก รวมถึงการรักษาสายพันธุ์ทุเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากบางสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมในตลาด จนเกษตรกรเลิกปลูก

อย่างไรก็ดี มีเสียงเรียกร้องจากคนที่หลงใหลในกลิ่นและรสชาติของผลไม้ชนิดนี้ในสิงคโปร์ว่า อยากให้คงกลิ่นดั้งเดิมไว้ โดย ริชชี เหลียง หนึ่งในคนรักทุเรียน เผยผ่านเฟซบุ๊คว่า ทุเรียนที่ไม่มีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ก็เหมือนกับมนุษย์ที่ปราศจากจิตวิญญาณ หรือบางรายก็บอกว่าอย่าไปยุ่งกับธรรมชาติเลย ขณะที่ เจสัน ลิม มองเห็นช่องทางจากการค้นพบครั้งนี้ โดยหวังให้มีการนำกลิ่นทุเรียนไปใส่ในผลไม้ชนิดอื่น เช่น อโวคาโด้

ที่มา : M2FNews