posttoday

บราซิลเอาบ้าง!ขอโหวตแยกประเทศ

09 ตุลาคม 2560

ชาวบราซิลใน 3 รัฐภาคใต้จัดลงประชามติแบบไม่เป็นทางการเพื่อแสดงเจตนารมณ์ขอแยกประเทศ

ชาวบราซิลใน 3 รัฐภาคใต้จัดลงประชามติแบบไม่เป็นทางการเพื่อแสดงเจตนารมณ์ขอแยกประเทศ

ชาวบราซิลในรัฐภาคใต้ 3 แห่ง คือ รัฐปารานา รัฐรีอูกรันดีดูซูล และรัฐซานตากาตารีนา จัดการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ขอแยกตัวไปตั้งประเทศใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนของชาวแคว้นคาตาลัน

กลุ่มผู้จัดการลงประชามติครั้งนี้มีชื่อว่า "ภาคใต้คือประเทศของเรา" หวังว่าน่าจะมีผู้มาร่วมลงประชามติอย่างน้อย 1 ล้านคน หรือมากขึ้นจากยอดเมื่อปีที่แล้วที่ 600,000 คน นอกจากนี้ ยังจัดอาสาสมัครถึง 20,000 คนช่วยประสานงานตามหน่วยลงคะแนนจุดต่างๆ โดยในบัตรลงคะแนนจะมีคำถามว่า

"คุณต้องการให้รัฐปารานา รัฐรีอูกรันดีดูซูล และรัฐซานตากาตารีนา เป็นประเทศเอกราชหรือไม่?"

แม้ว่าสื่อต่างประเทศจะเชื่อว่า จำนวนผู้มาร่วมแสดงจุดยืนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของทั้ง 3 รัฐที่มีถึง 29 ล้านคน แต่ผู้จัดงานยืนยันว่าพวกเขามีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในอันที่จะแยกตัวเป็นเอกราช เพราะไม่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบราซิล ที่จมปลักอยู่กับปัญหาคอร์รัปชั่นอีกต่อไป อีกทั้งยังต้องการเป็นสื่อกลางเพื่อบอกกับรัฐบาลว่า ประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศของพรรคการเมืองสายกลางเอียงขวา

รัฐภาคใต้ทั้ง 3 แห่งมีพรมแดนติดกับ อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย มีสภาพอากาศที่เย็นสบายคล้ายกับทวีปยุโรป ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวที่มีบรรพบุรุษมาจากยุโรปตะวันตก เช่น เยอรมนี อิตาเลียน และสแกนดิเนเวีย นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก ขณะที่ชาวบราซิลส่วนใหญ่ใช้ภาษาโปรตุเกส มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้นและเป็นกลุ่มผสมหลากหลายเผ่าพันธุ์

ที่สำคัญก็คือ รัฐภาคใต้ยังมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของบราซิล มีดัชนีพัฒนาการมนุษย์ในอัตราที่สูงมาก โดยเฉพาะรัฐซานตากาตารีนาและรัฐรีอูกรันดีดูซูล ที่อัตราส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP คิดเป็น 4% และ 7% ของทั้งประเทศ กลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชยังมีความรู้สึกว่ารัฐบาลกลางเก็บภาษีจากพวกเขาในอัตราที่สูงกว่างบประมาณพัฒนาท้องถิ่นที่เจียดมาให้ ซึ่งเป็นความเห็นที่คล้ายคลึงกับชาวคาตาลันบางส่วนที่ต้องการแยกตัวจากสเปน เพราะเห็นว่ามีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากกว่า ประชาชนในแคว้นเสียภาษีมากกว่า แต่ได้งบประมาณกลับมาในอัตราได้ไม่คุ้มเสีย

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของบราซิลระบุข้อห้ามมิให้รัฐต่างๆ แยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญของสเปน ด้วยเหตุนี้ การกระทำของกลุ่มผู้จัดการลงประชามติใน 3 รัฐภาคใต้จึงเป็นเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับการแยกตัวของรัฐคาตาลัน ที่ล่าสุดวานนี้ นายกรัฐมนตรี มารีอาโน ราโฮย แห่งสเปนประกาศชัดแล้วว่า แม้แคว้นคาตาลันจะประกาศเอกราช แต่จะไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมายทั้งสิ้น

ที่มา www.m2fnews.com