posttoday

สลดชะตากรรมโรฮีนจา อินเดีย-เนปาลยังไม่รับ

18 กันยายน 2560

สถานการณ์ผู้อพยพชาวโรฮีนจายังไร้ทางออก อินเดีย-เนปาลปฏิเสธไม่รับผู้อพยพ หวั่นถูกชักจูงร่วมกลุ่มก่อการร้าย

สถานการณ์ผู้อพยพชาวโรฮีนจายังไร้ทางออก อินเดีย-เนปาลปฏิเสธไม่รับผู้อพยพ หวั่นถูกชักจูงร่วมกลุ่มก่อการร้าย

ความรุนแรงยืดเยื้อในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ระหว่างกองทัพเมียนมากับผู้ติดอาวุธชาวโรฮีนจากลายเป็นวิกฤตการณ์ผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปี ล่าสุดตัวเลขผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ในบังกลาเทศมีมากถึง 400,000 คน ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังจากเกิดการปะทะกัน

ขณะที่นานาชาติกำลังกดดันให้เมียนมายุติความรุนแรงต่อพลเรือนชาวโรฮีนจา บังกลาเทศเริ่มที่จะปฏิเสธผู้อพยพเพิ่มเติม ทั้งยังส่งผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่เกาะร้าง ขณะที่อินเดียและเนปาลซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ความขัดแย้งเริ่มมีปฏิกิริยาไปในทางเดียวกัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้รับชาวโรฮีนจาเข้าประเทศกว่า 40,000 คน แต่ที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องมีเพียง 16,000 คน ในจำนวนนี้มีอยู่ 7,000 คนอาศัยอยู่ในสลัม เขตชัมมู ของรัฐชัมมูและกัศมีร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ห่างจากพรมแดนอินเดีย-เมียนมาถึงกว่า 2,000 กม. ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลอินเดียกังวลก็คือ ผู้อพยพเหล่านี้อยู่ใกล้พื้นที่กัศมีร์ซึ่งมีกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนมากเกินไป จนอาจถูกชักจูงเข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐบาลอินเดียจากผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกัน

 

สลดชะตากรรมโรฮีนจา อินเดีย-เนปาลยังไม่รับ

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้พบซากวัวใกล้กับชุมชนของชาวโรฮีนจา ซึ่งวัวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวฮินดู ทำให้กลุ่มเคร่งศาสนาฮินดูคิดว่าชาวโรฮีนจาน่าจะสังหารวัวดังกล่าว จึงพากันวางเพลิงเผาชุมชนแออัดของผู้อพยพ หลังจากนั้นก็เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้อพยพกับชาวฮินดูท้องถิ่นมากขึ้น

ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผลักดันผู้อพยพชาวโรฮีนจาทั้งหมดออกจากประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และอาจร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งในเรื่องนี้ เซอิด ราอัด อัลฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงท่าทีคัดค้านอย่างแข็งขัน และก่อนหน้านี้ อัลฮุสเซนยังเคยตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่กองทัพเมียนมากำลังทำอยู่อาจเข้าข่ายการกำจัดชาติพันธุ์ชาวโรฮีนจา

มูฮัมหมัด ซาลิมุลลอฮ์ ผู้อพยพชาวโรฮีนจาในอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่คัดค้านแผนการของรัฐบาลอินเดีย กล่าวว่า ยอมให้ทางการอินเดียฆ่าหรือจับขังคุกเสียดีกว่าจะถูกส่งกลับไปเมียนมา เพราะหากถูกส่งตัวกลับไป เขากลัวว่าจะถูกตัดเป็นชิ้นๆ หรือถูกจับมัดรวมกันแล้วเผาทั้งเป็น

ทั้งนี้ สถานการณ์ของผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเนปาลก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยที่เนปาลมีผู้อพยพจำนวน 250 คนในชุมชนแออัดที่กรุงกาฐมาณฑุ แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่รัฐบาลเนปาลเริ่มเพิ่มการตรวจตราพรมแดนเพื่อป้องกันผู้อพยพลักลอบเข้าเมือง โดย ราม กฤษณะ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เผยว่า ไม่สามารถแบกรับปัญหาได้ เพราะประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์เช่นกัน

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com