posttoday

เอเชียแข่งตุนอาวุธ รับวิกฤตโสมแดง

16 กันยายน 2560

สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเผชิญความตึงเครียดรอบใหม่ เมื่อเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป(ไอซีบีเอ็ม)

โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเผชิญความตึงเครียดรอบใหม่ เมื่อเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป(ไอซีบีเอ็ม) ข้ามน่านฟ้าเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่น ไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งเป็นการทดสอบครั้งที่ 13 ในปีนี้ และยังมีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) มีมติเพิ่มการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าการยั่วยุที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็วๆ นี้ อาจยิ่งทำให้เอเชียแข่งขันการสะสมอาวุธมากยิ่งขึ้นอีก

จีน เอช ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์สถาบันระหว่างประเทศวูดโรว์ วิลสัน กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า ภายหลังการยั่วยุรอบใหม่จากโสมแดง รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้สั่งให้มีการซ้อมรบฉุกเฉินตามมาทันที โดยมีการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีการสั่ง ให้เตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามอื่นๆ เช่น การโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ และระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง (อีเอ็มพี) อีกด้วย ซึ่งลีระบุว่า ความตึงเครียดเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่การแข่งขันสั่งสมอาวุธตามมา

อดัม โบรว์อิโนว์สกี ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นอาจทำให้เกาหลีใต้เพิ่มการซื้ออาวุธจากสหรัฐ ซึ่งอาจมีวงเงินสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1 ล้านล้านบาท)

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณว่าต้องการขายอาวุธให้เกาหลีใต้และชาติพันธมิตรในเอเชียเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความพยายามเข้าไปติดตั้งระบบ ต่อต้านขีปนาวุธล้ำสมัย (ทาด) เพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากจีนและรัสเซีย รวมถึงประชาชนบางส่วนในเกาหลีใต้เองก็ตาม โดยระบบทาดนั้นมีราคาประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.3 หมื่นล้านบาท) และมีค่าบำรุงรักษาราว 27.5 ล้านดอลลาร์/ปี (ราว 909 ล้านบาท)

ด้านเว็บไซต์ข่าวกลาโหม ดีเฟนส์ นิวส์ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐรายงานการจำหน่ายอาวุธให้ต่างชาติราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.09 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว และอาจทำสถิติใหม่ในปีนี้ หลังจากที่เคยขายอาวุธได้สูงสุดในปี 2012 ที่ 6.86 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.27 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอของบกลาโหมในการทำงบประมาณประจำปี 2018 เพิ่มอีก 160 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,310 ล้านบาท) หรือ 2.5% จากปีก่อน ซึ่งจะทำให้งบกลาโหมเพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่เป็น 5.26 ล้านล้านเยน (ราว 1.59 ล้านล้านบาท) หากได้รับการอนุมัติ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี มุนแจอิน ของเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่าท่าที ยั่วยุล่าสุดของเกาหลีเหนือนั้นทำให้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาในขณะนี้เป็นสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้" และระบุว่าอาจจำเป็นต้องใช้แรงกดดันเพื่อบีบให้คิมจองอึนยอมนั่งเจรจาแทน

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้กล่าวประท้วงอย่างรุนแรงว่า ประเทศของตนจะไม่มีวันยอมอดทนต่อการยั่วยุที่อันตรายเช่นนี้ ด้าน เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวประณามพร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรอย่างจีน หาทางกดดันเกาหลีเหนือให้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ยูเอ็นเอสซีได้เรียกประชุมฉุกเฉินเรื่องเกาหลีเหนือในช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ย. ตามมาทันทีเช่นกัน

กม.ญี่ปุ่นขวางยิงมิสไซล์สกัด

นิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า การยิงขีปนาวุธข้ามเกาะฮอกไกโดไปตกใน มหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่ใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ติดตั้งอยู่ในประเทศ ยิงสกัดการยั่วยุของเกาหลีเหนือ ซึ่งเพิ่งขู่ก่อนหน้านี้ว่าจะใช้ขีปนาวุธจมเกาะญี่ปุ่นลง

รายงานระบุว่า รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่มีขึ้นหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กำหนดให้ใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่มีจำกัดในกรณีเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น หรือหมายความว่าขีปนาวุธต้องมุ่งเป้ามาที่ญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากการยั่วยุของเกาหลีเหนือ และจนถึงปัจจุบันญี่ปุ่น ยังไม่เคยยิงสกัดแม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่ปัญหาเกาหลีเหนือเกิดขึ้นหลายปีก่อน นอกจากนี้ การจะยิงสกัดเพื่อป้องกันพันธมิตรอย่างสหรัฐและเกาะกวมนั้น ยังจำเป็นต้องรอให้พิกัดของขีปนาวุธมุ่งเป้าหมายชัดเจนก่อนอีกด้วย

ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้เรียกร้องให้มีการหารือเรื่องการซื้อระบบครูซ มิสไซล์ เพื่อให้สามารถยิงต่อต้านขีปนาวุธได้จากทั้งทางบก อากาศ และทะเล และยังมีการถกเถียงกันว่าควรมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือได้ ทันท่วงทีกว่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ริชาร์ด ซามูเอลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นจากศูนย์ศึกษาการระหว่างประเทศ สถาบันเอ็มไอที กล่าวว่า สาธารณชนชาวญี่ปุ่นยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่แน่ใจในเรื่องนี้

ด้านบีบีซี ระบุว่า การยิงขีปนาวุธครั้งใหม่พิสัยยิงไกล 3,700 กิโลเมตรครั้งนี้ ซึ่งไกลกว่าการทดสอบข้ามเกาะฮอกไกโดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 29 ส.ค. นับเป็นการส่งสัญญาณท้าทายการโจมตีเกาะกวมของสหรัฐโดยตรง เนื่องจากเกาะกวมมีระยะทางจากเกาหลีเหนือราว 3,400 กม.