posttoday

J-Cruises 16

03 สิงหาคม 2560

รถบัสกลับถึงท่าเรือ Naha ราวๆ 6 โมงเย็น เรือ Sapphire Princess จอดให้เห็นเด่นสง่าตั้งแต่หัวสะพาน

รถบัสกลับถึงท่าเรือ Naha ราวๆ 6 โมงเย็น เรือ Sapphire Princess จอดให้เห็นเด่นสง่าตั้งแต่หัวสะพานก่อนถึง จึงอดใจที่จะเดินย้อนกลับไปถ่ายรูปเรือเต็มๆ ลำไม่ได้ ภาพเรือภายใต้แสงอาทิตย์ที่กำลังจะลับฟ้าน่าประทับใจเป็นที่สุด กว่าจะกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องก็เกือบทุ่มแล้ว ค่ำนี้เรามีจองอาหารค่ำไว้ที่ห้อง International Dining Room ชั้น 6 ท้ายเรือตอน 2 ทุ่ม เลยนัดหมายกันที่ข้างเคาน์เตอร์บริการลูกค้าจะได้สะดวกในการไปห้องอาหาร แต่ปรากฏว่าเราไม่สามารถไปได้จากชั้น 6 เพราะระหว่างกลางลำเรือกับท้ายเรือเป็นห้องครัว จึงต้องขึ้นไปชั้น 7 แล้วใช้บันไดด้านท้ายเรือเดินลงมา อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ท่านมีโอกาสเจอบ่อยในเรือสำราญทุกลำ ไม่ใช่แค่ลำนี้ลำเดียวครับ พอเดินเข้าไปในห้องอาหารเจอเจ้าหน้าที่คนไทยอีกแล้ว แบบนี้อุ่นใจดี เปิดเมนูดูไปพร้อมๆ กับขอคำแนะนำ สั่งมาหลายอย่างอีกเช่นเคย ที่เด่นๆ ถูกปากมากเป็นพิเศษคือ ออร์เดิร์ฟปลาหมึกผัดกับหัวหอม เนื้อหมึกนุ่มรสชาติไม่จัดจ้านเกินไป ต่อด้วยอาหารทะเลในครีมซุป ทั้งหอยและปลาอร่อยมาก โดยเฉพาะซุปนี่วิดจนหมดถ้วย เหลือแต่เปลือกหอยไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น อีกจานที่ออกมาตอนแรกดูไม่น่ากินคือเนื้อผัดหัวหอม แต่พอชิมชิ้นแรกเท่านั้น เฮ้ย! อร่อยว่ะ เนื้อนุ่มมาก รสชาติหวานนำเค็ม กินแป๊บๆ หมดต้องสั่งซ้ำอีกจาน เมนูอื่นๆ ก็มาตรฐานไม่มีอะไรให้ติ ปิดท้ายด้วยของหวาน ไล่เรียงดูเมนูแล้วตัดสินใจ สั่ง Creme Brulee ของหวานขึ้นชื่อของเรือ Princess เจ้าหน้าที่เสิร์ฟมาปุ๊บไม่รีรอ กดช้อนลงไปให้หน้าแตกทะลุถึงชั้นครีมที่เบาเกินคาด ความนุ่มละมุนหอมหวานอบอวลไปทั้งปาก อร่อยจริงสมคำรับรอง กินเสร็จขึ้นไปเดินย่อยชั้นดาดฟ้า แวบไปส่องหนังกางแปลงแป๊บๆ คืนนี้มีเรื่อง Beauty and the Beast แต่ความที่วันนี้ทั้งร้อนและเหนื่อยจากการไปทัวร์มาตลอดบ่าย เลยขอบายกลับห้องไปอาบน้ำนอนดีกว่า ราตรีสวัสดิ์คืนวันที่ 2

J-Cruises 16

เช้าวันที่ 3 วันนี้เป็นวัน At Sea หรือ Sea Days หมายถึงตลอดวันนี้จะไม่มีการแวะที่ท่าเรือไหนเลย จึงเป็นวันที่ทางเรือต้องจัดสรรกิจกรรมต่างๆ มากเป็นพิเศษ และก็มักจะมีพิธีการสำคัญๆในวันแบบนี้ด้วย เพราะผู้โดยสารอยู่กันครบ ผมและทีมงานได้รับโอกาสพิเศษให้ขึ้นไปเยี่ยมชมสะพานเดินเรือ (Bridge) ที่ปกติจะไม่อนุญาตให้ผู้โดยสาร หรือแม้แต่ลูกเรือที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปเป็นอันขาด หลายท่านอาจจะคุ้นกับคำว่า "หอบังคับการ" มากกว่า แต่ในภาษาการเดินเรือเขาใช้คำว่า "สะพานเดิน" เรือ หรือทับศัพท์ว่า Bridge ไปเลยก็ได้ ผมเองเคยเห็นแต่ในหนัง ทั้งเรือรบ เรือบรรทุกสินค้า หรือเรืออวกาศอย่าง Starship Enterprise ในหนังสตาร์เทร็ค เพิ่งมาเห็นของจริงเอาก็วันนี้แหละ ตั้งใจว่าจะไปขอจับมือกัปตันเสียหน่อย แต่พอขึ้นไปจริงๆ ตกใจมาก ทั้งสะพานเดินเรือมีเจ้าหน้าที่แค่ 4 คนเท่านั้น ไหนล่ะกัปตันของผม ที่ดูในหนังมากัปตันมักจะอยู่บนนี้ไม่ใช่เหรอ ถามเจ้าหน้าที่ถึงทราบว่า ปกติกัปตันจะไม่เข้ามาถ้าไม่มีเหตุ ฉุกเฉินจริงๆ เจ้าหน้าที่ 4 คน ที่ประจำการอยู่นี่เพียงพอแล้ว เพราะก่อนจะออกเรือต้องมีการกำหนดเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องกลัวว่าจะไปชนกับเรือลำอื่นๆ แผนที่เดินเรือยุคปัจจุบันสมบูรณ์มาก

J-Cruises 16

ทั้งเส้นทาง ร่องน้ำ ความตื้น วัตถุอันตรายในน่านน้ำต่างๆ แม้แต่สายเคเบิลใต้น้ำก็มีระบุไว้ ไหนจะระบบนำร่องและระบบสื่อสารทันสมัยที่ติดตั้งบนเรืออีก เอาเป็นว่าถ้าไม่ใช่กรณีก่อการร้ายหรือแผ่นดินไหวฉับพลัน การเดินเรือนั้นปลอดภัยแน่นอน เจ้าหน้าที่บนสะพานมีหน้าที่ดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนเดินเรือที่กำหนด พร้อมตรวจสอบสภาพแวดล้อมของน่านน้ำรอบรัศมีเรือว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ ซึ่งคุณสมบัติหนึ่งของเจ้าหน้าที่บนนี้คือ สายตาต้องดีมาก ทั้งมองไกลในเวลากลางวันและมองชัดในเวลากลางคืน ผมมีโอกาสนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่พร้อมอรรถาธิบายหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่ระบบนำร่อง ระบบ ขับเคลื่อน มาตรการความปลอดภัย พร้อมชี้ให้ดูมาตรวัดต่างๆ ที่แปลกใจที่สุดคือตัวควบคุมระบบขับเคลื่อนและทิศทางที่เล็กกว่าแท่งดินสอเสียอีก ผมสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ 2 ท่าน นั่งอยู่หน้าแผงควบคุม 2 ชุดที่เหมือนกันเป๊ะ เลยอดถามไม่ได้ คำตอบคือ ทั้งสองท่านต้องตรวจสอบทุกอย่างคู่ขนานกัน หากใครคนใดเห็นสิ่งผิดปกติที่ต่างออกไปต้องรีบตรวจเช็ก เพราะบางครั้งคนเดียวอาจผิดพลาดได้ อีกอย่างที่เห็นเขาทำตลอดคือ ส่องกล้องทางไกลกันบ่อยๆ

J-Cruises 16

โดยมีเจ้าหน้าที่อีก 2 ท่าน รับหน้าที่ส่องอย่างละเอียด เพื่อยืนยันข้อมูลให้ตรงกับในเรดาร์ เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูบนจอเรดาร์จะเห็นเรือทุกลำในรัศมีของเรา และสามารถดูข้อมูลได้ว่าเรือลำนั้นเป็นเรืออะไร วิ่งจากไหนไปไหน เส้นทางเรือเป็นอย่างไร จะมาตัดกับเส้นทางเรือของเราหรือไม่ เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้เรือทุกลำสามารถสื่อสารถึงกันและเข้าถึงข้อมูลของกันและกันได้ แต่เพื่อความปลอดภัยจึงต้องมีการตรวจทานด้วยสายตาอีกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่อีก 2 ท่าน รับหน้าที่ส่องกล้องอย่างละเอียด เพื่อยืนยันข้อมูลให้ตรงกับในจอเรดาร์ เจ้าหน้าที่ส่งกล้องมาให้ผมลองส่องดูเรือลำหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่สุดบนจอเรดาร์ ปรากฏว่าเป็นเรือสินค้าของบริษัทหนึ่งที่ตรงกับข้อมูลในจอคอมพิวเตอร์จริงๆด้วย รบกวนการทำงานมานาน เลยขอถามคำถามสุดท้ายว่าเขาประจำการกันนานแค่ไหน คำตอบคือ กะละ 4 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่แบบนี้ 3 ชุดสลับกัน เพราะการนั่งอยู่ในห้องบังคับการนี้จะไปไหนไม่ได้เลยและวอกแวกไม่ได้ด้วย แม้แต่เข้าห้องน้ำถ้าไม่เต็มกลืนจริงๆ ก็จะไม่ไป ดังนั้นจึงไม่สามารถทำหน้าที่นานจนร่างกายและสายตาล้า ทราบดังนี้แล้วมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า การล่องเรือสำราญนั้นปลอดภัย จริงๆ จากนั้นผมก็ขอเดินสำรวจทั่วสะพาน ถึงรู้อีกว่า สะพานเดินเรือยุคใหม่สามารถ มองเห็นตัวเรือได้เกือบทุกด้าน ยกเว้น เฉพาะท้ายเรือเท่านั้น จึงขอเตือนท่านที่จะมาเที่ยวเรือสำราญและพักห้องที่มีระเบียงว่า กรุณาอย่าทำอะไรประเจิดประเจ้อ เพราะจากสะพานเดินเรือแทบจะมองเห็นหมดทุกห้องเลยครับ

J-Cruises 16

จากห้องบังคับการมาสู่ห้องบังคับใจ วันล่องทะเลแบบนี้กิจกรรมที่เปิดให้บริการกันตลอดคือกาสิโน หลายท่านมีคำถามมาว่า อยากล่องเรือในญี่ปุ่นอย่างเดียวไม่ได้เหรอ ทำไมต้องมีแวะไปประเทศอื่นด้วย ผมอนุมานเอาว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องกาสิโน ดังนั้นเรือสำราญที่มีกาสิโนบนเรือจะไม่สามารถเปิดได้หากวิ่งแค่ในญี่ปุ่น เพราะจะกลายเป็น Domestic Cruises ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น จึงเลี่ยงบาลีด้วยการกำหนดเส้นทางมากกว่าหนึ่งประเทศกลายเป็น International Cruises และต้องวิ่งออกจากเขตน่านน้ำญี่ปุ่นแล้วจึงจะเปิดกาสิโนได้ อย่างเมื่อคืนตอนออกจากโอกินาวะก็ยังเปิดไม่ได้จน 2 ชั่วโมงหลังจากออกเดินทาง และวันนี้ผมดูจากเส้นทางเดินเรือแล้วบอกได้เลยว่า มีเวลาเสี่ยงโชคกันตลอดทั้งวันครับ