posttoday

นโยบาย ‘เงิน’ ผิด ประวัติศาสตร์จีนเปลี่ยน

27 สิงหาคม 2560

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์ก้อนเงินตำลึงที่เราเห็นจอมยุทธ นิยมใช้เป็นเงินตรากันเมื่อ 600 ปีก่อน ซึ่งจัดว่าเป็นของใหม่สำหรับอารยธรรมจีน เพราะอันที่จริงแล้วในจีน “เงิน” เป็นสิ่งหายาก...“เงิน” ในที่นี้หมายถึงแร่เงินแม้จีนยุคใหม่จะเป็นผู้ผลิตแร่เงินอันดับ 3 ของโลก แต่เหมืองแร่เงินในจีนมักไม่ใช่แร่เงินบริสุทธิ์ จีนใช้ทองแดงเป็นตัวแทนเงินตรามาตลอดจนถึงราชวงศ์หมิงค่อยเปลี่ยนไปใช้แร่เงิน ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเพราะหาได้ยากมีค่าขนาดไหนนะหรือ เช่น ที่เห็นในหนังจีนว่าจอมยุทธราชวงศ์หมิงกินข้าวเสร็จสิ้น แล้วหยิบก้อนเงิน “หยวนเป่า” (ก้อนเงินรูปเรือที่มีก้อนป่องครึ่งวงกลมกลางลำ) ออกมาสองสามก้อนวางกระแทกกับโต๊ะนั้นเป็นเรื่องโม้สิ้นดี เพราะเอาเข้าจริง เงินหยวนเป่าขนาดที่จอมยุทธใช้จ่ายค่าอาหารกันให้เห็น 1 ก้อน* มีค่าประมาณ 2.4 หมื่นบาท(* ในยุคราชวงศ์หมิงเงิน 1 ตำลึง จีนมีน้ำหนัก 37 กรัม มีค่าตำลึงละ 3,000-4,000 บาท เงินหนึ่งก้อนที่เราเห็นในหนังจีนหนักประมาณ 6-7 ตำลึง)ในชีวิตจริง ถ้าจอมยุทธในยุคต้นราชวงศ์หมิงปรารถนาจะจ่ายค่าอาหารด้วยเงิน จอมยุทธจะควักเศษก้อนเงินเล็กๆ จากถุงผ้า ซึ่งก้อนเง

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ก้อนเงินตำลึงที่เราเห็นจอมยุทธ นิยมใช้เป็นเงินตรากันเมื่อ 600 ปีก่อน ซึ่งจัดว่าเป็นของใหม่สำหรับอารยธรรมจีน เพราะอันที่จริงแล้วในจีน “เงิน” เป็นสิ่งหายาก...

“เงิน” ในที่นี้หมายถึงแร่เงิน

แม้จีนยุคใหม่จะเป็นผู้ผลิตแร่เงินอันดับ 3 ของโลก แต่เหมืองแร่เงินในจีนมักไม่ใช่แร่เงินบริสุทธิ์

จีนใช้ทองแดงเป็นตัวแทนเงินตรามาตลอดจนถึงราชวงศ์หมิงค่อยเปลี่ยนไปใช้แร่เงิน ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเพราะหาได้ยาก

มีค่าขนาดไหนนะหรือ เช่น ที่เห็นในหนังจีนว่าจอมยุทธราชวงศ์หมิงกินข้าวเสร็จสิ้น แล้วหยิบก้อนเงิน “หยวนเป่า” (ก้อนเงินรูปเรือที่มีก้อนป่องครึ่งวงกลมกลางลำ) ออกมาสองสามก้อนวางกระแทกกับโต๊ะนั้นเป็นเรื่องโม้สิ้นดี เพราะเอาเข้าจริง เงินหยวนเป่าขนาดที่จอมยุทธใช้จ่ายค่าอาหารกันให้เห็น 1 ก้อน* มีค่าประมาณ 2.4 หมื่นบาท

(* ในยุคราชวงศ์หมิงเงิน 1 ตำลึง จีนมีน้ำหนัก 37 กรัม มีค่าตำลึงละ 3,000-4,000 บาท เงินหนึ่งก้อนที่เราเห็นในหนังจีนหนักประมาณ 6-7 ตำลึง)

ในชีวิตจริง ถ้าจอมยุทธในยุคต้นราชวงศ์หมิงปรารถนาจะจ่ายค่าอาหารด้วยเงิน จอมยุทธจะควักเศษก้อนเงินเล็กๆ จากถุงผ้า ซึ่งก้อนเงินที่ควักมามักบิดเบี้ยว เพราะผ่านการตัดแบ่งหลายครั้งจอมยุทธกะประมาณด้วยสายตา แล้วค่อยๆ บรรจงเอากรรไกรตัดเงินออกเป็นก้อนย่อยที่มีน้ำหนักเท่ากับค่าอาหาร เสี่ยวเอ้อมองด้วยสายตาที่ฝึกฝนมานาน ดูว่าเงินที่เพิ่งรับมาเป็นเงินแท้หรือไม่ แล้วเอาไปชั่งต่อหน้าเถ้าแก่ ถ้าได้น้ำหนักครบก็เป็นอันเสร็จพิธีการจ่ายค่าอาหาร

ฉากจอมยุทธจ่ายเงินค่าอาหารข้างต้นใกล้เคียงความจริงในยุคต้นราชวงศ์หมิง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องปกติของระบบการเงิน เปรียบเหมือนยุคปัจจุบันเกิดวิกฤตเงินสดที่ใช้ไร้เครดิต จนผู้คนต้องเอาทองแท่งมาใช้จ่ายแทน

ทั้งหมดเกิดคือความผันผวนด้านระบบการเงิน เพราะสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองและนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์

เรื่องมาจากช่วงต้นราชวงศ์หมิงเกิดวิกฤตทองแดงขาดแคลน จูหยวนจาง ฮ่องเต้ผู้สถาปนาราชวงศ์คิดแล้วคิดอีก จึงเห็นว่าระบบเงินกระดาษ (ธนบัตร) ที่ใช้กันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งน่าจะเป็นหนทางแก้ปัญหาได้

จูหยวนจาง สั่งพิมพ์แบงก์มาใช้งาน ราชสำนักไม่ต้องเสียเวลาถลุงและหลอมทองแดง ส่วนประชาชนก็พกพาง่ายไม่หนักกระเป๋า ต่อมาราชวงศ์หมิงกระชับนโยบายหนักขึ้นอีก โดยออกกฎห้ามใช้เงินทองแดงให้แบงก์ราชวงศ์หมิงเป็นเงินตราสกุลเดียวที่ชาวบ้านใช้ได้ หรือผู้คนจะมีสิทธิใช้เงินทองแดงก็เฉพาะตอนเอามาแลกแบงก์ไปจากราชสำนักเท่านั้น

ถ้าเอาจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาจับ คงน่าชื่นชมว่าราชสำนักหมิงช่วยลดภาวะมลพิษจากการทำเหมืองโลหะได้มากโข

แต่ปัญหายุคนั้นดันไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม ฮ่องเต้จูหยวนจางไม่เคยตั้งคำถามว่า “เงินกระดาษที่สั่งพิมพ์ออกมาได้ตามบัญชา มันมีมูลค่ามาจากไหน?”

ราชสำนักหมิงคงไม่เคยคิดว่า ที่จริงเงินกระดาษไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง และการพิมพ์เงินกระดาษจำเป็นต้องมีทองคำ หรือโลหะมีค่าเป็นตัวค้ำประกัน มิเช่นนั้นแล้วประเทศหนึ่งๆ อยากจะรวยเท่าไรก็พิมพ์แบงก์ออกมา ซึ่งจะตามมาด้วยสภาวะเงินเฟ้อแน่นอน

จูหยวนจาง ได้แต่คิดว่าพอเงินขาดมือเมื่อไหร่ก็แค่สั่งพิมพ์เพิ่มเติม ปัญหาก็จบ เงินเฟ้อสิครับ ค่าเงินราชวงศ์หมิงยิ่งลดฮวบ เงินทองแดงซึ่งยังผูกค่าอยู่กับแบงก์ที่ราชสำนักออกมาก็พลอยลดค่าตามไปด้วย

ลดลงถึงขนาดที่ว่า ชาวบ้านเอาเงินทองแดงที่เก็บเอาไว้ไปหลอมเป็นกะทะยังคุ้มกว่า และขณะที่ราชสำนักยังไม่เห็นทางออก แต่ชาวบ้านหาทางออกเองแล้ว

ชาวบ้านใช้โลหะชนิดใหม่มาใช้แลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง โลหะชนิดใหม่ต้องหาไม่ง่ายไม่ยาก คำตอบคือแร่เงินและทองคำ ภายหลังแร่เงินได้รับความนิยมกว่าเพราะทองคำมีน้อย

แต่ด้วยความที่ยังมีไม่มากพอ มันจึงมีค่ามากถึงขนาดที่เวลาใช้ยอดเงินน้อยๆ ต้องเอาก้อนเงินมาตัดเป็นก้อนเล็กๆ ลำบากหน่อยแต่ก็ยังปลอดภัยในเรื่องค่าเงินกว่าเก็บรักษาไว้เป็นแบงก์ราชสำนักหมิง หรือทองแดง

ราชสำนักงานงอก เพราะหากปล่อยไปนานเข้า เงินทองแดงและแบงก์ราชสำนักที่ทางการเก็บไว้ในคลังยิ่งลดค่า ราชสำนักยังฝืนออกกฎว่า หากพบชาวบ้านใช้เงินและทองในการซื้อขาย มีโทษปรับหนึ่งหมื่นเท่า หนักเข้าถึงขั้นส่งไปเป็นทหารที่ชายแดน

แต่สุดท้ายราชสำนักก็ฝืนกลไกตลาดไม่ไหว เพราะเงินของราชสำนักไร้เครดิตไปแล้ว ชาวบ้านต่างเลือกข้างแร่เงิน ปล่อยให้ราชสำนักโดดเดี่ยวกับเงินคงคลังที่ลดค่าลงไปเรื่อยๆ

เมื่อฝืนไม่ได้ พอมาถึงช่วงกลางราชวงศ์หมิง ราชสำนักจึงออกกฎรับภาษีเป็น “เงิน” เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ายอมรับว่าแร่เงินเป็นเงินตราที่แท้จริง

แต่เนื่องจากเงื่อนไขข้างต้นที่จีนผลิตแร่เงินได้น้อย จึงต้องพึ่งพาแหล่งแร่เงินจากนอกประเทศ

เป็นเวลาลงตัวพอดีกับที่ชาวยุโรปบุกเบิกแหล่งแร่เงินในทวีปอเมริกาใต้ ปริมาณแร่เงินที่หมุนเวียนกันในยุโรปมากล้นเกิน ชาวยุโรปจึงหาทางระบายแร่เงินออกจากระบบ เพื่อไม่ให้แร่เงินในยุโรปลดค่า จีนก็ต้องการแร่เงินเพิ่มขึ้นพอดี นอกจากนั้นยังมีแหล่งแร่เงินอีกแหล่งจากญี่ปุ่นที่เพิ่งค้นพบแร่เงินขนาดใหญ่ด้วย

ด้วยความใหญ่ของอาณาจักรจีน จีนจึงเป็นผู้นำเข้าแร่เงินรายใหญ่ที่สุดของยุคนั้น เปรียบเสมือนหลุมดำของแร่เงิน จีนส่งออกแพรไหม ใบชา และเครื่องเคลือบเพื่อนำแร่เงินเข้าประเทศ “เงิน” จึงเป็นประตูบานแรกที่กระตุ้นให้จีนเปิดประเทศให้กับการบุกเบิกค้าขายและล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก

จีนใช้แร่เงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อมาอีกหลายร้อยปี และชะตาชีวิตของเศรษฐกิจจีนหลังจากหลายร้อยปีก็ไม่อยู่ในมือของจีนคนเดียวอีกต่อไป

เพราะเรื่องตลกที่จู่ๆ จีนก็ต้องนำเข้าโลหะ ซึ่งต้องพึ่งพาต่างชาติมาเป็นเงินตราของตัวเองอย่างไม่ตั้งใจ

นี่เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนอ่อนแอด้านเศรษฐกิจลงในอีกหลายร้อยปีถัดมา เงินฝืดเงินเฟ้อผูกอยู่กับแหล่งแร่เงินนอกประเทศ หรือแม้แต่กระทั่งสงครามฝิ่น ซึ่งด้านหนึ่งเกิดขึ้นเพราะตะวันตกต้องการแร่เงินที่จีนดูดซับไปจากระบบเศรษฐกิจตะวันตกกลับคืน

นโยบายและการตัดสินใจใดๆ ในระดับบ้านเมืองใดจึงสำคัญเสมอ เพราะผลกระทบไม่เคยสั้น และมักส่งผลยืนยาวเป็นสิบเป็นร้อยปีข้างหน้า