posttoday

ประวัติศาสตร์ธนบัตร กับราชวงศ์ซ่ง 4.0

20 สิงหาคม 2560

การใช้เงินกระดาษ (ธนบัตร) เป็นเรื่องน่าตื่นตะลึง อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของมาร์โคโปโล ในบันทึกการเดินทางของเขาเขียนไว้ว่า

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

การใช้เงินกระดาษ (ธนบัตร) เป็นเรื่องน่าตื่นตะลึง อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของมาร์โคโปโล ในบันทึกการเดินทางของเขาเขียนไว้ว่า เพียงท่านข่านปั๊มกระดาษออกมาแผ่นเดียว มันก็มีมูลค่าเทียบเท่าเงินทองจำนวนมากมาย ในสายตามาร์โคโปโลจึงเห็นว่าท่านข่านเป็นผู้มีอิทธิพลในทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้นำอื่นใดในใต้หล้า

(มาร์โคโปโลเดินทางมาจีนในสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นยุคชาวมองโกลปกครองจีน มาร์โคโปโลจึงเรียกฮ่องเต้ว่าท่านข่าน) จะไม่ตื่นตะลึงได้อย่างไร เพราะเมื่อทุกวัฒนธรรมในโลกพัฒนาระบบเงินตราขึ้นมาในระดับหนึ่ง ก็มักจะใช้วัตถุมีค่าหาได้ยากมาแทนตัวเงิน และมักจะลงเอยด้วยแร่โลหะไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ทองแดง ทอง หรือ เงิน

เช่นนี้แล้วเงินตราจึงมักมีค่าอยู่ในตัวเม็ดเงินเอง อย่างน้อยจนตรอกจริงๆ ก็เอาเหรียญหรือเม็ดเงินมาหลอมกลายเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรืออาวุธได้ (ในแง่ประโยชน์ส่วนบุคคลแนวคิดนี้อาจจะไม่โดนใจเท่าไร แต่ในแง่ของรัฐแล้วแนวคิดนี้มีผลประโยชน์ต่อรัฐไม่น้อย)

กระดาษที่อยู่ดีๆ เอามาใช้แทนเงิน ฉีกขาดได้ เปื่อยได้ แต่เขียนบันทึกอะไรลงไปก็ไม่ได้เพราะมีลวดลายซับซ้อนพิมพ์ประทับไว้ ดูไปช่างไม่มีคุณประโยชน์ใดๆ ในตัวเอง จู่ๆ ท่านข่านกลับเอามาแทนโลหะซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยในตัวมันเองได้ซะนี่

จีนเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ริเริ่มใช้เงินกระดาษ ริเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อนหน้ามาร์โคโปโลพบท่านข่านประมาณ 270 ปี

(บ้างว่าเริ่มใช้กันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นบ้าง ถังบ้าง แต่ก็นับเป็นการใช้ชั่วคราว ไม่มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ไม่มีวัตถุพยานเหลือมาถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงยอมรับกันว่าประวัติศาสตร์เงินกระดาษเริ่มในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งมีแม่พิมพ์ธนบัตรเหลือรอดมาเป็นตัวเป็นตน)

แน่นอนว่าเงินกระดาษถูกสร้างสรรค์เพราะความจำเป็น เพราะอยู่ดีๆ ถ้ามีเหล็กและทองแดงให้ใช้ คงไม่มีใครพิเรนทร์เอากระดาษมาใช้แทนเงินตรา

เดิมทีจีนใช้ทองแดงเป็นเงินตรา แต่ช่วงก่อนที่ราชวงศ์ซ่งจะรวมแผ่นดินได้เป็นกลุ่มก้อน จีนแตกแยกเป็นหลายแคว้น ระบบการเงินท่ามกลางสงครามจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละแคว้น บางแคว้นขาดแคลนทองแดง จึงเลือกใช้ระบบเงินเหล็กแทนที่

เมื่อราชวงศ์ซ่งรวบรวมแผ่นดินได้ในช่วงแรก ยังไม่ว่างพอที่จะมาปฏิรูประบบเงินตรา จึงกำหนดให้แต่ละดินแดนใช้ระบบเงินตราที่ตนคุ้นเคยไปก่อน

ส่วนแผนระยะยาวกำหนดไว้ว่าจะยกเลิกเงินเหล็ก แล้วใช้เงินทองแดงแทนให้หมด

ในขณะนั้นเองดินแดนเสฉวนไม่ค่อยสงบนัก ผู้มีอิทธิพลเดิมในท้องถิ่นชอบก่อหวอดสร้างความเดือดร้อนให้ราชสำนัก ฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งจึงใช้นโยบายพิเศษด้านการเงิน โดยให้เขตเสฉวนใช้เฉพาะเงินเหล็ก และห้ามนำเข้าเงินทองแดงเข้ามาใช้ ด้านหนึ่งเพราะทองแดงขาดแคลน แต่อีกด้านหนึ่งต้องการลดอิทธิพลท้องถิ่นเสฉวนด้วยการเล่นค่าเงิน จงใจให้เงินในเสฉวนลดค่าลงเรื่อยๆ

ส่วนในดินแดนอื่นๆ ถ้ายังปล่อยให้ค้าขายระหว่างเขตได้อิสระ เงินเหล็กก็จะยังไหลเวียนอยู่ในระบบและอาจจะลามไปถึงเขตที่ใช้เงินทองแดง เสฉวนจึงถูกขีดกรอบห้ามเอาเงินเหล็กออกนอกเขตด้วยเช่นกัน

เดือดร้อนถึงดินแดนเสฉวนซึ่งเดิมก็ใช้เงินเหล็กเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งนานไปก็ยิ่งขาดแคลนเงินทองแดง

แถมเสฉวนยังมีปัจจัยอุปสรรคเสริมอีก การเดินทางเข้าออกดินแดนแถบเสฉวนแสนลำบาก ตามที่ชาวจีนเปรียบเปรยว่า “เดินทางสู่เสฉวน ยากกว่าขึ้นสวรรค์” เงินเหล็กมีน้ำหนักมาก ขนย้ายลำบาก ยิ่งเงินเหล็กลดค่าไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งต้องใช้เงินเหล็กปริมาณมากเพื่อซื้อขายกัน ทำให้การขนส่งเงินเหล็กยิ่งกลายเป็นภาระ

เศรษฐกิจราชวงศ์ซ่งก็ธรรมดาซะที่ไหน ราชวงศ์ซ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ค้าขายว่องไว เศรษฐกิจเฟื่องฟู พ่อค้าเสฉวนย่อมไม่อยากตกกระแสใต้หล้า จึงคิดหาวิธีลดอุปสรรคของตนเอง ด้วยการสร้างระบบเงินกระดาษขึ้นมา

แรกเริ่มระบบเงินกระดาษเกิดจากเอกชน กรรมวิธีไม่ซับซ้อน ก็แค่เอาเงินเหล็กมาฝากร้านเอาไว้ แล้วทางผู้ให้บริการจะออกเอกสารกระดาษให้ ซึ่งสามารถใช้เอกสารนี้ซื้อขายแทนเงินตรา วันหน้ามีใครเอาเอกสารนี้มาเบิก ผู้รับฝากเงินเหล็กก็จะจ่ายเงินให้กับผู้นั้นไป

ทีแรกมักจะใช้กับเงินจำนวนมากๆ สถาบันเงินกระดาษเหล่านี้ทำกำไรจากค่าประกันและการเก็บเปอร์เซ็นต์จากการฝากถอน จะว่าไปเงินกระดาษยุคนี้ทำตัวเสมือนเช็คมากกว่าธนบัตร

ต่อมาการใช้เงินกระดาษเริ่มแพร่หลาย แต่ละสถาบันเงินกระดาษจึงสร้างสาขาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น ฝากที่หนึ่ง ถอนอีกที่หนึ่ง ไม่ต้องคอยบรรทุกเงินเหล็กติดตัวไปไหนต่อไหน สะดวกสบาย คล่องตัว

เนื่องจากแต่ละสถาบันเริ่มมีสาขามากขึ้น แล้วเงินกระดาษนี้มีโอกาสถูกปลอมแปลงได้ การประดิษฐ์ลายพิมพ์ลงบนกระดาษจึงมีสัญลักษณ์ซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งใช้เงินกระดาษนี้ไป ระบบการพิมพ์ก็ยิ่งต้องรัดกุมถึงจะได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ยิ่งได้รับความเชื่อถือ คนก็ยิ่งนิยมใช้ ยิ่งคนนิยมใช้ ก็ยิ่งพิมพ์ออกมาในแบบสำเร็จรูปมากขึ้น คือไม่ได้ระบุยอดเฉพาะเป็นครั้งๆ ไป แต่ระบุยอดตายตัวต่อใบแล้วพิมพ์ออกมาเป็นปริมาณมากๆ แทน

เงินกระดาษจึงเข้าสู่ยุคธนบัตรอย่างแท้จริง

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตามภาษาที่ว่าอะไรเกิดขึ้นครั้งแรกมักไม่สมบูรณ์แบบเสมอ เงินกระดาษเกิดปัญหาเครดิตเสีย หนี้เน่า เถ้าแก่สถาบันเงินกระดาษบางแห่งเกิดอาการเบี้ยวหนี้ บ้างแกล้งปิดกิจการล้มบนฟูก กลายเป็นคดีความอลหม่าน เดือนร้อนถึงหน่วยงานบ้านเมือง ส่วนราชการก็ทำงานลำบากเพราะระบบเงินกระดาษไม่ใช่ระบบที่ราชการรองรับ

ไม่ได้อะไรจากระบบนี้ แถมยังต้องมาเสียบุคลากรชำระคดีความอีก

ราชสำนักซ่งมองเห็นโอกาสและข้อดีของเงินกระดาษ ต่อมาไม่นานราชสำนักจึงเข้ามาเป็นสถาบันส่วนกลางรองรับเครดิตของเงินกระดาษเสียเอง หัวไวสมกับเป็นราชสำนักที่ปกครองยุคการค้ารุ่งเรือง

ผนวกกับยุคราชวงศ์ซ่งมักใช้นโยบายจ่ายเงินให้พวกชนเผ่านอกด่านเพื่อแลกกับสันติภาพอยู่เป็นประจำ เงินกระดาษจึงเข้ามาชดเชยสภาวะที่ราชสำนักซ่งขาดแคลนทองแดงได้อย่างดี

แม้แรกเริ่มจะจำกัดการใช้เฉพาะเขตเสฉวน แต่อีกไม่กี่ร้อยปีถัดมาได้รู้ตัวอีกที เงินกระดาษก็กลายเป็นที่นิยมจนท่านข่านเอามาใช้ให้มาร์โคโปโลได้ตะลึงเสียแล้ว

ประวัติศาสตร์ของธนบัตรน่าสนใจตรงที่ว่ามันสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกกันเองของเอกชน แต่แล้วราชสำนักก็หัวไวพอที่จะรับลูกต่อ คล้อยตามความจำเป็นของยุคสมัยโดยไม่แข็งขืนฝืนไว้เพียงเพราะแต่ดั้งแต่เดิมมาไม่เคยใช้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเรียกได้ว่าราชสำนักซ่งเอาบรรดาสตาร์ทอัพมาปัดฝุ่น ลดปัจจัยด้านลบของเอกชนในเรื่องความไม่มั่นคงในเครดิต หรือมีสายป่านไม่ยาวพอ มาสร้างราชวงศ์ซ่ง 4.0 ขึ้นด้วยมือของราชสำนักเอง

ราชวงศ์ซ่งได้ชื่อว่าค้าขายเก่ง ซึ่งด้วยวิธีคิดแบบนี้ การค้าไม่รุ่งเรืองในราชวงศ์นี้ แล้วจะไปรุ่งเรืองในราชวงศ์ไหนได้อีก