posttoday

ปตท.ฟื้นฟูทะเลระยอง สร้างรายได้ให้ชาวประมง

19 สิงหาคม 2560

ผ่านพ้นไปกว่า 4 ปีกับเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC กว่า 5 หมื่นลิตร รั่วไหลงทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง

ผ่านพ้นไปกว่า 4 ปีกับเหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC กว่า 5 หมื่นลิตร รั่วไหลงทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง

มาถึงวันนี้ PTTGC ยืนยันว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และได้ดูแลทรัพยากรทางทะเลหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง

วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร PTTGC ให้ข้อมูลว่าได้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อดูแลและรักษา พร้อมป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2556 โดยยึดแนวทางว่า PTTGC เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนระยองในการดูแลท้องทะเลด้วย

“ในแง่ของการดูแล PTTGC จัดชุดเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย คอยประสานกับชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง หากพบเหตุผิดปกติในท้องทะเล และจัดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนมาโดยตลอด รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะในท้องทะเลร่วมกับชุมชน ทั้งการรีไซเคิล และทำขยะให้เป็นสินค้าแฟชั่น ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดปริมาณขยะในท้องทะเล และให้สภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวได้อยู่อย่างยั่งยืน” วราวรรณ ย้ำ

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร PTTGC ยังระบุถึงแนวทางป้องกันหากในอนาคตเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลว่า ได้ยกระดับการเพิ่มมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกันและแก้ไข เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แนวทางปฏิบัติในการป้องกันที่สำคัญ คือ เป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งส่วนของกองทัพเรือ เพื่อให้เตรียมความพร้อมของเครื่องบินให้สามารถใช้งานได้ทันที รวมถึงกรมเจ้าท่า ขอความร่วมมือให้ซ้อมแผนเผชิญเหตุให้บ่อยครั้งมากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรับมือ

วราวรรณ ย้ำอีกว่า ในส่วนของ PTTGC ได้พัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีอุปกรณ์ ระบบ และเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่ประจำให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีหลังเกิดเหตุ

“เรามีมาตรการป้องกันและซ้อมแผนฉุกเฉินทั้งกลางวันและกลางคืน โดยทั้งหมดก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดบรรทัดฐานที่มีประสิทธิภาพ” วราวรรณ ย้ำ

นอกจากนี้ PTTGC ยังสานโครงการซั้งเชือกที่ร่วมกับกรมประมง ชุมชนประมงในพื้นที่ จ.ระยอง สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ โดยโครงการซั้งเชือกเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งในแนวทางดังกล่าว PTTGC ได้ประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ ให้สอดรับกับหลักสมุทรศาสตร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางของโครงการจะช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้ในระดับหนึ่ง และจะส่งผลให้ชาวประมงระยองมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับการที่ปลาทะเลกลายพันธุ์ซึ่งพบจำนวนมากในพื้นที่ทะเล จ.ระยองนั้น วราวรรณ อ้างอิงผลงานวิจัยของกรมควบคุมมลพิษว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากมลพิษทางทะเลที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำจากหลากหลายแห่ง ทั้งการพัฒนาต่อเนื่องของอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม เปลี่ยนป่าชายเลนเป็นนากุ้ง ผลดังกล่าวทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

“สาเหตุของปลากลายพันธุ์ที่ชาวบ้านจับขึ้นมาได้นั้น ยังมีสาเหตุจากทั้งการเดินเรือ การทำประมง การเกษตรริมฝั่ง ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ทำให้ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมลงด้วย” วราวรรณ ย้ำทิ้งท้าย