posttoday

คลังรับมือสังคมผู้สูงอายุทำเศรษฐกิจหด

19 สิงหาคม 2560

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานมหกรรมลงทุน การออม เตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ ว่า

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานมหกรรมลงทุน การออม เตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 สะท้อนจากสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี สูงมากกว่า 20% ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ การที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คาดว่าจะส่งผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการผลิต แรงงานของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยผู้สูงอายุจะใช้จ่ายจากเงินออม อาจส่งผลให้การบริโภคในภาพรวมชะลอตัวลงได้ ด้านการคลังของภาครัฐจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเพิ่มสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังด้วย

นอกจากนี้ ด้านการออมและการลงทุนในประเทศในระยะยาว ประเทศที่มีภาวะสังคมชราภาพมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะการออมที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกษียณ หรือเลิกทำงานแล้ว จะใช้จ่ายจากการออมสะสม ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดทำนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุขในปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งการเปิดศูนย์บริการคนชรา เพื่อให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และนันทนาการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกต้องด้วย

ขณะที่ด้านการจ้างงานมีการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การทำงานในร้านหนังสือ เป็นต้น พร้อมทั้งคุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยผู้จ้างงานสามารถนำรายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 เท่า ด้านการเงิน ส่งเสริมให้แรงงานทุกประเภทออมเงินไว้ใช้ยามชรา โดยข้าราชการมีระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.ได้ด้วย

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐยังได้จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้สูงอายุและกองทุนประกันสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน โดยการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย และโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ราชพัสดุ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.ได้มีแผนการดำเนินงานตามประเด็นยุทธศาสตร์อาเซียนภายใต้ยุทธศาสตร์ สปส.ระยะ 5 ปี (2558- 2562) ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560-2579) ของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนการปฏิรูปองค์กรให้ทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างเสถียรภาพอย่างยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม

“ประเด็นขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนจะยึดหลักการสำคัญ คือ การพัฒนาระบบประกันสังคม ให้มีความเป็นสากล เพื่อก้าวสู่การประกันสังคมนานาชาติ โดยเริ่มจากการก้าวสู่องค์กรประกันสังคมชั้นนำ ในภูมิภาคอาเซียน” นพ.สุรเดช กล่าว