posttoday

ไข่ปนเปื้อนระบาดทั่วยุโรป

12 สิงหาคม 2560

อียูเรียกถกฉุกเฉินเจอ ไข่ต้มปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ระบาดไปแล้วอย่างน้อย 15 ชาติทั่วยุโรป

อียูเรียกถกฉุกเฉินเจอ ไข่ต้มปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ระบาดไปแล้วอย่างน้อย 15 ชาติทั่วยุโรป

ไวเทนิส อันดรีอูไคติส คณะกรรมการสาธารณสุขสหภาพยุโรป (อียู) จัดประชุมฉุกเฉินระดับภูมิภาค หลังเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมนี ต่างกล่าวโทษกันและกัน กรณีพบไข่ต้มปอกเปลือกปนเปื้อนสารเคมีและยาฆ่าแมลงส่งออกมาจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพบแล้วอย่างน้อย 15 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการปนเปื้อน

อังกฤษพบไข่ปนเปื้อนมากกว่า 7 แสนฟอง มากกว่าคาดการณ์ในตอนแรกที่ 2.1 หมื่นฟอง ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างน้อย 4 รายต่างยกเลิกการขายสลัดไข่และแซนด์วิชไข่ ซึ่งใช้ไข่ต้มปอกเปลือกเป็นวัตถุดิบ ขณะที่เดนมาร์กพบไข่ปนเปื้อนมากกว่า 20 ตัน ส่วนโรมาเนียยึดไข่ต้องสงสัยปนเปื้อนก่อนถึงชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตไว้ 1,000 กิโลกรัม

สตีฟานี ทราเวิร์ท รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ไข่ปนเปื้อนดังกล่าวขายไปแล้วเกือบ 2.5 แสนฟองนับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา โดยนำเข้ามาจากทั้งเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ คริสเตียน ชมิดต์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเยอรมนี กล่าวว่า การใช้ยาฆ่าแมลงฟิโพรนิล เพื่อกำจัดปลวก เห็บ และหมัดกับปศุสัตว์ซึ่งใช้สำหรับการบริโภคผิดกฎหมายทางอาญา และมีองค์กรผิดกฎหมายอยู่เบื้องหลัง

ด้านเยอรมนีนำเข้าไข่ 5 ล้านตันจากเนเธอร์แลนด์ในปีที่แล้ว โดยบีเอเอสเอฟ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในโลกจากเยอรมนี ประกาศจะหยุดขายยาฆ่าแมลงฟิโพรนิลให้กับเกษตรกรสำหรับพืชและปศุสัตว์ โดยจะไม่ยื่นขอขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สารเคมีดังกล่าวในการเกษตรกรรมกับเจ้าหน้าที่อียู แต่ยังคงขายสำหรับใช้นอกภาคเกษตรกรรม

ขณะที่เบลเยียมโทษเนเธอร์แลนด์ว่า ละเลยในการจัดการกับการใช้สารเคมีดังกล่าว ซึ่งพบมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2016 และยังไม่แจ้งเตือนไปยังประเทศอื่น โดยเนเธอร์แลนด์พบฟาร์ม 180 แห่งใช้สารเคมีดังกล่าว และปิดฟาร์มไป 138 แห่ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อียูมีกฎห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ฟิโพรนิลในปศุสัตว์ซึ่งใช้สำหรับการบริโภค โดยองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า สารเคมีดังกล่าวมีพิษระดับปานกลาง หากบริโภคปริมาณมากและต่อเนื่อง อาจเป็นอันตรายต่อตับ ไทรอยด์ และไตได้ ขณะที่องค์กรความปลอดภัยอาหารเดนมาร์ก ระบุว่า การบริโภคไข่ปนเปื้อนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และอาการชักได้

ทว่า องค์กรความปลอดภัยทางอาหารอังกฤษ ระบุว่า จำนวนไข่ปนเปื้อนมีจำนวนน้อยมาก ไม่ถึง 1% ของไข่ทั้งหมดในประเทศ จึงยังไม่สร้างความเสี่ยงต่อคนทั่วไป ขณะที่รัฐมนตรีเกษตรฝรั่งเศส ระบุว่า สารเคมีที่ปนเปื้อนในไข่มีปริมาณน้อย จึงมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคต่ำ