posttoday

รัฐปะทะโซเชียลมีเดีย หวังเปิด "ประตูหลัง"

17 กรกฎาคม 2560

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายแห่งต่างมีนโยบายไม่ทำ “ประตูหลัง” หรือยอมถอดรหัสข้อความลูกค้าของตนเอง ทั้งเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้าและปกป้องชื่อเสียงของบริษัทตนเองเอาไว้ ทว่า ปัญหาการก่อการร้ายที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รัฐบาลหลายชาติ อาทิ อังกฤษ และออสเตรเลีย ต่างพูดคุยถึงประเด็นที่จะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยี เช่น เฟซบุ๊ก และกูเกิล ต้องยอมทำประตูหลัง สำหรับการถอดรหัสข้อความที่เข้ารหัส (Encrypt) เอาไว้ เพื่อเสาะหาบุคคลที่ได้รับแนวคิดรุนแรงมาจากกลุ่มก่อการร้ายและมีแนวโน้มจะก่อเหตุรุนแรงขึ้น

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูล ของออสเตรเลีย เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะออกกฎใหม่เพื่อบังคับให้เฟซบุ๊ก กูเกิล และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ยอมส่งมอบข้อความเข้ารหัสให้กับทางรัฐบาล หากเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอ เพื่อเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย

หนังสือพิมพ์เฮอร์รัลด์ ซัน ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียให้การถอดรหัสข้อความเหล่านั้นเป็นวาระสำคัญ และยังจะหาเทคโนโลยีมาเพื่อใช้ตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามข้อความเข้ารหัสในรูปแบบเรียลไทม์ เนื่องจากในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนอยู่มากกว่า 60 คดีที่เกี่ยวกับก่อการร้ายต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเผชิญปัญหาข้อความเข้ารหัสเหล่านั้น

“การเข้ารหัสเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับความปลอดภัยด้านข้อมูล แต่ความเป็นส่วนตัวของผู้ก่อการร้ายจะกลายเป็นผู้มีชัยเหนือความปลอดภัยของพลเรือนออสเตรเลีย” เทิร์นบูล กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เปิดเผยหลังการก่อการร้ายที่บริเวณสะพานลอนดอนว่า จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันการเผยแพร่ลัทธิรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐกำลังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน และกำลังทำให้เทคโนโลยีที่ประชากรโลกใช้ในปัจจุบันเสี่ยงต่อการโจมตีไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นเรื่องที่กลุ่มโซเชียลมีเดียต้องต่อสู้เพื่อรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีของตัวเองไว้

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา แอปเปิ้ล อิงค์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน “ไอโฟน” ต้องเผชิญปัญหาอย่างหนักจากการต่อสู้กับสำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ที่ขอให้แอปเปิ้ลยอมปลดล็อกโทรศัพท์มือถือของซายอิด ริซวาน ฟารุค หนึ่งในผู้ก่อเหตุกราดยิงที่เมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือน ธ.ค. 2015 จนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างเอฟบีไอและแอปเปิ้ล เนื่องจากแอปเปิ้ลไม่ยอมปลดล็อกโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการแฮ็กเทคโนโลยีของตัวเอง

การปลดล็อกการเข้ารหัสยังมีค่าใช้จ่าย โดยแม้แอปเปิ้ลจะยืนกรานไม่ถอดรหัสและเอฟบีไอจะถอนฟ้องแอปเปิ้ลไปในภายหลัง แต่ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น มันนี รายงานว่า ถ้าแอปเปิ้ลยอมถอดรหัสให้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 1-2 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 ล้านบาท) ในการแฮ็กดังกล่าว แต่ต้องเสียค่าป้องกันไม่ให้เทคนิคการแฮ็กดังกล่าวแพร่กระจายไปอีกราว 25-50 ล้านดอลลาร์ (ราว 875-1,750 ล้านบาท)

ด้านกลุ่มโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์ ยืนยันเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า จะจัดการกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายออกจากพื้นที่โซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกันกับการขจัดข้อความที่แสดงความเกลียดชัง

ยุโรปสวนกระแส

สหภาพยุโรป (อียู) พยายามปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน โดยหลังเกิดเหตุก่อการร้ายซึ่งทำให้เมย์ออกมาประกาศจะคุมเข้มอินเทอร์เน็ต คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ออกมายืนยันจะยังคงปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนต่อไป และยังเตรียมออกกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ถอดรหัสข้อความเหล่านั้น

ทว่า กฎป้องกันความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่เข้มข้นของอียู ก็สร้างความปวดหัวให้กับบริษัทเทคโนโลยีเช่นกัน เช่น กรณีที่อียูกำลังเล่นงาน เช่น เยอรมนีที่กำลังสืบสวนเฟซบุ๊กในกรณีรวบรวมข้อมูลการใช้งาน และข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อนำไปคำนวณเพื่อการโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยแม้ผู้ใช้จะยินยอมเงื่อนไขของเฟซบุ๊กในการเก็บข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ตอนสมัคร แต่เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่แพร่หลายและมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน จึงเหมือนเป็นการบังคับให้ผู้ใช้ต้องยินยอม

นอกจากนี้ ยุโรปยังออกกฎล่าสุดให้นายจ้างต้องบอกผู้ที่จะสมัครเข้างานใหม่ว่า จะขอเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม สแนปแชท ทวิตเตอร์ และลิงค์อิน ก่อนรับเข้าทำงาน ถ้าหากนายจ้างไม่ทำตาม จะถือเป็นผิดกฎหมายปกป้องข้อมูลของอียู

ซีเอ็นเอ็น มันนี รายงานว่า การออกกฎดังกล่าวทำให้กระบวนการรับเข้าทำงานของบริษัทในยุโรปเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากที่ผ่านมาหลายบริษัทในยุโรปและทั่วโลก นิยมตรวจสอบโซเชียลมีเดียของผู้สมัครก่อนที่จะรับเข้าทำงาน

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น อียูเตรียมจะออกกฎปกป้องข้อมูลเพิ่มเติมในเดือน พ.ค. 2018 ซึ่งครอบคลุมไปถึงรถยนต์ไร้คนขับและโดรน เพื่อปกป้องข้อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และสิทธิในการแบ่งปันข้อมูล โดยหากบริษัทไหนละเมิดกฎดังกล่าวจะถูกปรับสูงสุดถึง 4% ของรายได้บริษัททั่วโลก