posttoday

สหรัฐผงาดส่งออกน้ำมัน กดดันโอเปกผุดดีลใหม่

12 กรกฎาคม 2560

การผลิตน้ำมันในสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้สหรัฐสามารถส่งออกน้ำมันดิบแซงหน้าชาติสมาชิกโอเปกบางประเทศได้ ตั้งแต่ปี 2020

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ราคาน้ำมันเริ่มพลิกกลับขึ้นมาให้พอหายใจหายคอกันคล่องขึ้น เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสขึ้นไปเล็กน้อย 0.4% อยู่ที่ 44.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่เบรนต์ขึ้นไปเท่ากันอยู่ที่ 46.88 ดอลลาร์/บาร์เรล ทว่าก็ยังเป็นเพียงการปรับขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อเทียบตลอดทั้งปี 2017 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันยังเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยลดลงราว 17%

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ล้วนเห็นพ้องตรงกันว่า ภายใต้แรงกดดันเรื่องซัพพลายที่ล้นตลาดอยู่แล้วและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก อาจไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยดันราคาน้ำมันโลกให้ยืนระยะสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) และกลุ่มประเทศนอกโอเปก ไม่ร่วมมือกันออกมาตรการใหม่ที่แรงขึ้น เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมออกมา

เพราะแม้ว่ากลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มนอกโอเปกที่นำโดยรัสเซีย จะเห็นพ้องให้ขยายข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันที่วันละ 1.8 ล้านบาร์เรล ออกไปอีก 9 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2018 ทว่ามาตรการนี้กลับไม่ช่วยผลักดันราคาน้ำมันขึ้นได้มาก โดยราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ยังอยู่ในช่วงขาลงต่างกับในช่วงต้นปี เนื่องจากมีปัจจัยลบสำคัญอย่างการผลิตน้ำมันเชลออยล์ในสหรัฐที่กลับมาฟื้นตัวขึ้น และทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตลอดช่วงหลายเดือนมานี้

ล่าสุดมีรายงานตอกย้ำจากบริษัทข้อมูลพลังงาน พิรา เอ็นเนอร์ยี ว่า การผลิตน้ำมันใน “สหรัฐ” ที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจส่งผลให้สหรัฐสามารถส่งออกน้ำมันดิบแซงหน้าชาติสมาชิกโอเปกบางประเทศได้ ตั้งแต่ปี 2020 ที่จะถึงนี้

ภายใน 3 ปีข้างหน้า สหรัฐจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ถึง 2.25 ล้านบาร์เรล/วัน หรือสูงกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่ 5.2 แสนบาร์เรล/วัน สูงกว่าคูเวตซึ่งอยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน และมากกว่าไนจีเรียที่ผลิตได้ 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน

แกรี รอสส์ หัวหน้าฝ่ายน้ำมันโลกของพิรา ให้มุมมองกับไฟแนนเชียลไทมส์ ว่า สหรัฐจะผงาดขึ้นเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เพราะการที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่มโอเปก ทำให้ไม่จำเป็นต้องควบคุมเพดานการผลิตเหมือนประเทศสมาชิก และนี่ก็จะถือเป็นข่าวร้ายอย่างมากต่อโอเปกที่กำลังพยายามดันราคาน้ำมันโลกให้ไปอยู่ในจุดสมดุล

ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยมีกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันมาตลอดจนถึงปลายปี 2015 ซึ่งรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้แก้กฎหมายเปิดทางให้สหรัฐสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี จากนั้นมาน้ำมันดิบของสหรัฐจึงได้หลั่งไหลออกไปแข่งขันกับโอเปกและรัสเซียทั้งในตลาดยุโรปและตลาดจีน โดยมีท่าเรือหลักสำหรับส่งออกน้ำมันอยู่ที่เทกซัส

หากนับจากช่วงกลางปี 2016 ที่ผ่านมา กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐได้ขยายตัวขึ้นมากกว่า 10% ไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ตัวเลขดังกล่าวของพิราจะถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอย่างน่าตกใจ และยังสูงกว่าของสำนักอื่น เช่น บริษัท ไอเอชเอส มาร์กิต ที่ให้ไว้ว่าสหรัฐจะส่งออกน้ำมันดิบได้ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในปี 2020 หรือของสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) ที่ให้ไว้ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในปี 2025 ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายให้ภาพตรงกันก็คือ “กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และสหรัฐจะผงาดขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญของโลกได้อย่างแน่นอนในเร็วๆ นี้”

ทิศทางดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองข้ามช็อตดีลของโอเปก ณ ปัจจุบันนี้ไปแล้ว โดยเฉพาะหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ไม่แรงพอจนกระตุ้นการใช้น้ำมันในจีน เอเชีย ยุโรป และที่อื่นๆ ให้เพิ่มขึ้นได้มากพอ ก็อาจทำให้ข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเสียเปล่า และไม่สามารถกระตุ้นให้ราคาขึ้นไปถึงระดับเป้าหมายได้จนกว่าจะมีข้อตกลงใหม่ที่แรงกว่าเดิมออกมา

เดเมียน คูร์วาลิน และเจฟฟรีย์ เคอร์รี นักวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจ ผู้คร่ำหวอดในวงการโภคภัณฑ์โลก โกลด์แมน แซคส์ ถึงกับให้ภาพในแง่ลบอย่างเลวร้ายว่า ราคาน้ำมันอาจดิ่งลงไปแตะ 40 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ หากโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นราคาใหม่ที่สร้างความ “ตกตะลึงและพรั่นพรึง” ออกมาได้

การให้ความเห็นในเชิงลบของ “รัสเซีย” ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่นอกกลุ่มโอเปก ที่ชิงปฏิเสธความเห็นเรื่องการลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงสามารถฉุดราคาสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าลงมาได้ถึงกว่า 4% ภายในคืนเดียว และทำให้ในการประชุมด้านพลังงานที่ประเทศตุรกีในสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียจึงค่อนข้างระวังตัวเรื่องการให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ โดยระบุว่าหากจำเป็นก็พร้อมขยายมาตรการเพิ่มเติมได้อีก เพียงแต่ปัจจุบันนี้คิดว่ายังไม่จำเป็น เพราะกลไกเดิมในข้อตกลงเมื่อเดือน พ.ค. กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว

กลุ่มโอเปกและพันธมิตรนอกโอเปกยังมีเวลาอีกมากให้ทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ได้เสมอ หากการผลักดันราคาไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ ในยุคสมัยที่เชลออยล์เป็นปัจจัยพลิกเกมตัวใหม่ และเทคโนโลยีล้ำสมัยกำลังทยอยกัดกร่อนการใช้พลังงานยุคเก่าอย่างน้ำมันลงเรื่อยๆ