posttoday

G19 ในความทรงจำ

10 กรกฎาคม 2560

ปิดฉากไปแล้วอย่างตราตรึงสำหรับการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (จี20)

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ปิดฉากไปแล้วอย่างตราตรึงสำหรับการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (จี20) ที่ลบภาพความน่าเบื่อและซ้ำซากจำเจให้หมดสิ้นไป เปิดศักราชการประชุมซัมมิทใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจไปด้วย “การทูตนอกตำรา” “ภาษากายของผู้นำ” และ “การประท้วงที่บานปลายเป็นจลาจล”

ในเชิงภาพรวมนั้น การประชุม จี20 ครั้งนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า คือ ยุโรปที่นำโดย อังเกลา แมร์เกิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โชว์ความเป็นผู้นำโลกในด้านการค้าและประเด็นต่างๆ ขณะที่สหรัฐยังคงไม่เข้าพวกเหมือนเดิม จนนักวิเคราะห์เสียดสีว่าเป็นการประชุม “จี19” ไปแล้ว โดยสหรัฐยังคงไม่เห็นพ้องเรื่องข้อตกลงสภาพอากาศ ส่วนเรื่องการค้าที่ยอมเห็นพ้องต่อต้านการกีดกันทางการค้าในแถลงการณ์ร่วมนั้น ก็เพราะมีรายละเอียดเงื่อนไขที่เปิดช่องให้กีดกันได้หากคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรียกว่าประเด็นหลักนั้นไม่ต่างไปจากที่คิดเอาไว้ ทว่าที่จริงแล้วเรื่องเซอร์ไพรส์อีกหลายเรื่องก็อาจไม่ได้นอกเหนือไปจากความคาดหมายเช่นเดียวกัน

การทูตนอกตำราแปลกๆ ยังคงนำโดยสหรัฐเจ้าเก่าเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลุกออกไปจากโต๊ะการประชุมกลุ่มผู้นำ และปล่อยให้ลูกสาว “อิวังกา ทรัมป์” ซึ่งเดิมนั่งอยู่ข้างหลัง ขึ้นมานั่งเก้าอี้ประชุมแทนตัวเองโดยขนาบกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน แม้อิวังกาจะเป็นที่ปรึกษาอาวุโสทำเนียบขาวที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประชุมอยู่ แต่งานนี้ก็ย่อมถูกหลายฝ่ายโจมตีเรื่องความเหมาะสมทางการทูต

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ห้องทำงานรูปไข่ เมื่ออิวังกานั่งเก้าอี้ของทรัมป์และถ่ายรูปร่วมกับพ่อและนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา ทำเอาหลายคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสม เพราะตอนนั้นอิวังกายังไม่มีตำแหน่งอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงถูกสับเละเรื่อง ครม.ครอบครัว จนกระทั่งพ่อต้องตั้งตำแหน่งให้ตามมา

ส่วนเรื่องภาษากายของผู้นำนั้น สื่อก็ยังคงเล่นเรื่องการจับมือของทรัมป์เช่นเดิม และในคราวนี้ยังมีเรื่องภาษากายของแมร์เกิลมาเพิ่มด้วย โดยเฉพาะในการยืนสนทนาสั้นๆ กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่แมร์เกิลกลอกตามองบนระหว่างที่ฟังปูตินพูด สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในบางจุด

สุดท้าย นี่ยังเป็นการประชุมซัมมิทครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เพราะการประท้วงที่บานปลายไปสู่ความรุนแรง มีร้านค้าได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากจากการปล้นสะดมและบุกทุบทำลาย ภายใต้การต่อต้านโลกาภิวัตน์

ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า การประท้วงนั้นเป็นเหมือนวัฒนธรรมของชาวตะวันตกโดยเฉพาะฝั่งยุโรป ที่มักจะแสดงออกหากไม่เห็นด้วยกับเรื่องต่างๆ และในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้กระทำได้ การประท้วงและสไตรค์นายจ้างจึงมักเกิดขึ้นให้เห็นประจำ เช่น ในฝรั่งเศส ทว่าใน จี20 ครั้งนี้ออกจะพิเศษหน่อยที่แมร์เกิลเลือกจัดในเมือง “ฮัมบูร์ก” เพราะเป็นเมืองท่าที่ขึ้นชื่อเรื่องการประท้วงอย่างรุนแรงต่อต้านสถาบันหลักๆ เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งแม้ว่าจะจัดตำรวจมาเป็นพิเศษจำนวนมาก แต่ก็ยังคุมไม่อยู่ เช่นที่มีข่าวว่า เมลาเนีย ทรัมป์ ไม่สามารถไปร่วมงานกับภริยาผู้นำประเทศอื่นๆ ต้องอยู่แต่ในโรงแรม เพราะติดขัดจากปัญหาการประท้วง

การประชุมซัมมิทในยุคนี้จึงไม่น่าเบื่อเหมือนเคยอีกต่อไป