posttoday

การศึกษา-สุขภาพ โอกาสลงทุนทางสังคม

08 กรกฎาคม 2560

ปัจจุบันการออกไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่มีแค่การลงทุนทำธุรกิจในด้านการค้าหรืออุตสาหกรรมเท่านั้น

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ปัจจุบันการออกไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่มีแค่การลงทุนทำธุรกิจในด้านการค้าหรืออุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีการลงทุนด้านสังคม หรือที่คุ้นหูกันในรูปแบบของโครงการเพื่อสังคม (CSR) ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้โครงการลงทุนต่างๆ ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ง่ายขึ้น

จากงานประชุมเครือข่ายของผู้ให้บริจาคที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ (เอวีพีเอ็น) จัดล่าสุดที่ประเทศไทย ได้มีการเปิดตัวงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่อง “ภาพรวมการลงทุนเพื่อสังคมในเอเชีย” ซึ่งทำขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักลงทุนทางสังคมไม่ว่าจะเป็นนักการกุศล นักลงทุน ฯลฯ ให้สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

งานวิจัยฉบับนี้เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการทำการกุศลและการลงทุนเพื่อสังคมในระบบนิเวศทางสังคม 14 ประเทศ ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงถึงความต้องการทางสังคมทั่วทั้งภูมิภาค เปรียบเทียบและแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย งานวิจัยชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ภาพรวมการลงทุนทางสังคม ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับกฎหมายและระบบนิเวศทางสังคมที่มีรูปแบบเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงบุคคลหรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปสงค์ อุปทาน โดยในแต่ละส่วนสรุปผลด้วยโอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอแนะสำหรับนักลงทุนทางสังคม ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการระดมทุนหรือการลงทุนที่อ้างอิงจากมูลค่าตลาดเพื่อสร้างผลกระทบที่มากขึ้น

“วัฒนธรรมในการช่วยเหลือและบริจาคอยู่คู่กับสังคมเอเชียมาอย่างยาวนาน แต่โอกาสให้การบริจาคอันที่จะสร้างประโยชน์นั้นมีมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์และความร่วมมือที่มีมากขึ้น “นัยนา ซูบเบอร์วัล บัตตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอวีพีเอ็น กล่าว

ผลงานวิจัยดังกล่าว ชี้ชัดถึงเรื่องความหลากหลายของการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้นักลงทุน เพื่อสังคมมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต้องเผชิญกับความท้าทายทางสังคมที่เร่งด่วนในด้านสุขอนามัย การสุขาภิบาล และการศึกษา

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง กลับเจอกับภาวะสังคมสูงอายุ โดยรายงานยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการ แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในด้านการเข้าถึงพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จนถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศหมู่เกาะในเอเชีย

ข้อมูลเชิงลึกจากรายงาน เมื่อพิจารณาภาพรวมของงานวิจัย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในภูมิภาคที่มีการจัดการกับความยากจนได้เป็นอย่างดีรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยมีการจัดการที่ดีอันดับต้นๆ คือ การดูแลทรัพยากรทางน้ำ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำการศึกษา

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ เช่น การแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบท คุณภาพที่แตกต่างกันในระบบการศึกษาของรัฐบาล ความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเชิงสังคมยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จากงานวิจัยสรุปได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศหรือพื้นที่ใดก็ตาม การได้ความยอมรับจากคนในพื้นที่และการสนับสนุนจากภาครัฐ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจ มีโอกาสประสบความสำเสร็จสูงขึ้น