posttoday

ปาต้าซานเหริน จิตรกรจีน ผู้วาดสรรพสัตว์ ‘มองบน’

02 กรกฎาคม 2560

อาการ “มองบน” แม้ใช้พลังการแสดงออกไม่มาก แต่มีความหมายชัดเจน เมื่อเราสนใจและตั้งใจฟังคู่สนทนา สายตาย่อมพุ่งตรงไปที่เป้าหมาย

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

อาการ “มองบน” แม้ใช้พลังการแสดงออกไม่มาก แต่มีความหมายชัดเจน

เมื่อเราสนใจและตั้งใจฟังคู่สนทนา สายตาย่อมพุ่งตรงไปที่เป้าหมาย แต่หากใจรู้สึกปฏิเสธ สายตาก็จะกระเจิงขึ้นไป กลายเป็นอาการ “มองบน”

อาการเล็กๆ อย่าง “มองบน” ไม่เคยถูกตั้งชื่อเรียกมาก่อน จนไม่นานมานี้ค่อยกลายเป็นคำให้เราได้ใช้ได้ยิน แต่กลับเคยมีศิลปินจีนเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้วคนหนึ่งใช้อาการ “มองบน” แสดงอารมณ์ผ่านภาพวาดสรรพสัตว์ของเขา

ปาต้าซานเหริน เป็นสมญานามของจิตรกรที่เกิดในช่วงราชวงศ์หมิงล่มสลาย เขามีชื่อจริงว่าจูตา เป็นลูกหลานรุ่นที่ 10 ของจูหยวนจาง ผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิง

ว่ากันว่า จูตาเมื่ออายุ 8 ปีก็แต่งกาพย์กลอนได้ อายุ 11 ปี ก็มีฝีมือในการวาดภาพทิวทัศน์

เรียกได้ว่าจูตาเพียบพร้อมทุกอย่าง เป็นถึงราชนิกุล เงินทองไม่ขาดมือ ความรู้ความสามารถไม่ขาดแคลน

แต่แล้วเหมือนฟ้าแกล้ง ปี ค.ศ. 1644 ราชวงศ์ หมิงล่มสลาย ชาวแมนจูเข้ามาก่อตั้งราชวงศ์ชิงแทนที่ ท่ามกลางสงครามกลางเมือง คนในบ้านของจูตาถูกฆ่าตายไปกว่า 90 ชีวิต เวลานั้นจูตาอายุเพียง 19 ปี แม่และน้องชายต้องหนีเข้าป่า ส่วนพ่อ ภรรยา และลูกของเขาเสียชีวิตท่ามกลางการหลบหนี

ลองคิดดูถึงสภาพจิตใจของจูตาที่ต้องเห็นภาพความโหดร้าย ที่จริงเขามีครบทุกอย่างที่เป็นใหญ่เป็นโต แต่แล้วแค่เวลาข้ามคืนทุกอย่างก็กลับล่มสลาย จากราชนิกุลอนาคตไกล กลายไปเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม จิตใจจูตาย่อมแหลกลาญอย่างรุนแรง

เขามีเพียงความสามารถด้านบุ๋น และเพราะจิตใจไม่ยอมรับผู้ปกครองแผ่นดินรายใหม่ จะเข้าไปสวามิภักดิ์รับราชการก็ไม่ใช่ จะก่อกบฏก็คงไม่รอด

จูตาจึงเหลือปลายพู่กันไว้ระบายออกเท่านั้น ไม่วาดภาพก็แต่งกลอน

ไฟที่สุมในอกจูตาคงมีไม่น้อย แม้จากผลงานและชีวประวัติที่บันทึกไว้บอกว่าเขาคือนักเล่าเรื่องที่มีความสามารถทางภาษาศาสตร์และอารมณ์ขัน แต่เมื่อครั้งหนึ่งที่เขารับไม่ได้กับจิตใจที่แหลกสลายของตน เขาเขียนอักษรคำว่า “ใบ้” ไว้ที่หน้าประตูแล้วเลือกที่จะไม่พูดไม่จากับใคร ใช้แต่ภาษาร่างกาย เช่น พยักหน้า สั่นหัวในการสื่อสารกับผู้คน

เขาออกบวชเมื่ออายุ 23 ปี ใช้ชื่อในการออกบวชว่า เสวียะเก้อ ที่แปลว่าหิมะ ซึ่งน่าจะสื่อถึงความเยือกเย็น ไร้ความรู้สึก

ว่ากันว่าเมื่อเขาบวชได้เพียง 2-3 เดือน ก็มีอาการคลุ้มคลั่ง เตร็ดเตร่ไปตามท้องถนนเหมือนคนบ้า ร้องเพลง หัวเราะ และร่ำไห้สลับกันไป กว่าอาการนี้จะหายไปก็ใช้เวลา 1 ปี

จูตาเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามอีกหลายครั้ง สมญานามที่ใช้ในการวาดภาพก็มีหลากหลาย ส่วนหนึ่งคงเพื่อหลบซ่อนผู้ปกครองใหม่ที่อาจจะไล่ล่าอดีตราชนิกุลที่ใจไม่ยินยอมต่อราชสำนักชิงเช่นเขา

แล้วเขาก็สึกออกจากการเป็นพระแล้วเข้าบวชเป็นนักพรตเต๋าเมื่ออายุได้ 36 ปี แต่ยังคงคบหากับเพื่อนภิกษุในพุทธศาสนาอยู่เสมอ

เขาคบหาคนได้หลากหลาย หากไม่ใช่พวกขุนนางรับใช้ราชสำนักชิงแล้ว ไม่ว่าพ่อค้าขายเนื้อสัตว์ ปัญญาชนตกอับ เขาไม่เคยถือตัว

เขาเขียนภาพและแต่งกลอนมากมาย ชื่อสมญานามที่โด่งดังที่สุดที่เขาใช้คือ “ปาต้าซานเหริน”(&>0843;&>2823;&>3665;&>0154;) ซึ่งแปลว่า “ผู้ปลีกวิเวก (&>3665;&>0154;) ที่ยิ่งใหญ่ทั้งแปด (&>0843;&>2823;)” ชื่อนี้ไม่ว่าสำหรับชาวจีนหรือชาวไทยย่อมฟังดูไม่เหมือนชื่อคน และมักทำให้นึกว่าเป็นคน 8 คน แทนที่จะเป็นคนคนเดียว

ที่มาของชื่อเขาอธิบายได้หลายแบบ มักเกี่ยวกับปริศนาการใช้ตัวอักษร เช่นคำอธิบายหนึ่งที่ว่า ชื่อจูตา (&>6417;&&2823;) กลายเป็น ปาต้า (&>0843;&>2823;) เพราะถูกถอดเอาอักขระ หนิว และเอ่อร์ (&>9275; และ &&2819;) ที่แปลว่า หูวัว ออกไป

ภาษาจีนโบราณ หนิวเอ่อร์ &>9275;&&2819; ที่แปลว่า หูวัว เป็นสำนวนแฝงแปลว่าผู้นำที่มีอำนาจบารมี ที่มาคำนี้มาจากพิธีในยุคโบราณที่ผู้นำแว่นแคว้นต่างๆ จะทำพิธีดื่มเลือดสาบานเป็นพันธมิตรกัน ผู้นำที่เป็นหัวหอกจะต้องเชือดหูวัวเอาเลือดมาดื่มสาบานตน

ชื่อจูตาที่ถูกลิดรอนหูวัว (อำนาจบารมี) จึงเหลือเพียงแค่อักษร ปาต้า เท่านั้น

ภาพของปาต้าซานเหริน พิเศษกว่าภาพเขียนสกุลราชสำนักจีนในยุคนั้นที่เน้นฝีแปรงจำนวนมากและอลังการ ภาพเขียนของปาต้าซานกลับเรียบง่าย ประกอบด้วยเส้นและแต้มหมึกไม่กี่แต้ม แต่ตรึงใจผู้ดูด้วยความเรียบง่ายคาบเกี่ยวระหว่างอัจฉริยะและคนบ้า

เป็นคนบ้าที่มีอารมณ์ขันท่ามกลางความรู้สึกชีวิตแหลกลาญล่มสลาย

เขาเคยเขียนกลอนประกอบภาพไว้วรรคหนึ่งว่า “หยดหมึกไม่มาก แต่หยดน้ำตามาก”

และอาจจะด้วยอารมณ์ต่อต้านฝ่ายปกครองที่อัดอั้นอยู่ภายใน และเพราะตัวเขาไม่ได้ยึดถือการวาดภาพจากสำนักวาดภาพใดๆ ฝีแปรงและรูปแบบจึงเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองชัดเจน

ปาต้าซานเหรินได้ชื่อว่าเป็นแวนโก๊ะแดนมังกร เพราะผลงานของเขาทั้งคู่มิได้เน้นถ่ายทอดความเป็นจริง แต่กลับสร้างจากตัวตนและอารมณ์ (Impressionism)

ทั้งแวนโก๊ะและเขามีมุมมองโลกจากสายตาของคน (เคย) สติแตก และทั้งคู่สร้างแนวทางที่แตกต่างแขนงใหม่ให้วงการศิลปะในอารยธรรมของตน

ภาพก้อนหินที่เขาวาดมักจะมียอดใหญ่ฐานเล็กดูไม่มั่นคง ภาพดอกเหมยของเขากลับมิใช่ดอกเหมยบานสะพรั่ง ภาพต้นไม้และกิ่งไม้ที่งอกในรูปร่างประหลาดที่ไม่ควรจะเป็น ทั้งหมดบ่งบอกสภาวะจิตใจและอารมณ์อันพิสดาร ที่มีแนวทางต่างจากศิลปินราชสำนัก

ปริศนาในลายเซ็น “ปาต้าซานเหริน” ที่เขียนด้วยลายมือของเขา ยังสามารถอ่านออกเป็นตัวอักษร “ร่ำไห้” และ “หัวเราะ” ในภาษาจีน

ในช่วงชีวิตหลังๆ ไม่ว่าเขาจะวาดสัตว์ชนิดใด ล้วนแต่มีสายตาประหลาด ต่างมองบนบ้าง ถลึงตาบ้าง ให้อารมณ์กบฏทางความคิด

สายตาของสัตว์ต่างๆ ที่ปาต้าซานเหรินวาด ไม่ใช่สายตาสัตว์ตามธรรมชาติ แต่เป็นสายตาของเขาเอง

ปาต้าซานเหริน ชีวิตบั้นปลายยังคงต่อต้านราชวงศ์ชิง เขาอาจฝันถึงวันที่แผ่นดินหมิงจะถูกกู้คืนมา แต่ยิ่งนานก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ทำได้แต่ส่งอารมณ์ขี้เกียจจะแยแสสนใจ และมองบนผ่านภาพวาด

ไม่รู้ว่าด้วยลึกๆ เขาเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่ข้างใน หรือเพราะเขาได้ปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจผ่านภาพวาด เขาจึงมีอายุยืนยาว และยังคงสร้างสรรค์ผลงานจนถึงวาระสุดท้ายในวัย 80 ปี

จนราชวงศ์ชิงล่มสลายไปนับร้อยปี เขาย่อมมิได้มีชีวิตอยู่ยืนยาวขนาดนั้น แต่ภาพของเขาที่เหลือรอดมาในปัจจุบัน มีมูลค่าในตลาดการประมูลกว่า 25 ล้านบาท/1ตารางฟุต

แต่ไม่ว่าปาต้าซานเหรินหรือราชวงศ์ชิงก็ล้วนไม่สู้ความยืนยงของอาการ “มองบน” ที่กลับมาเป็นที่นิยมจนถูกนิยามมาเป็นศัพท์แสงให้ใช้กันจริงจังในยุคนี้อีกครั้งไม่ได้

นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เข้าข่าย ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น