posttoday

ติดบ่วงดอกเบี้ยต่ำ หนี้ครัวเรือนโลกพุ่ง

28 มิถุนายน 2560

ภาวะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง เป็นผลมาจากประชาชนอาศัยจังหวะที่ดอกเบี้ยต่ำหันไปกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำไปลงทุนและใช้จ่ายสิ้นเปลือง

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินสหรัฐในปี 2008 ทั่วโลกต่างอยู่ภายใต้บรรยากาศของนโยบายกระตุ้นทางการเงินมาโดยตลอด ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยที่หลายประเทศอยู่ในช่วงอัตรา 0% หรือถึงขั้นติดลบ และผ่านมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ธนาคารกลางเป็นผู้อัดเงินออกมาซื้อสินทรัพย์มหาศาล โดยนโยบายเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจโลกในวันนี้

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายเหล่านี้ก็กำลังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมาไม่แพ้กัน เพราะการพร้อมใจกันอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาลโดยธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) นั้น ทำให้สภาพคล่องมหาศาลถูกนำไปเก็งกำไรกับสินทรัพย์ต่างๆ เช่นกัน

ที่เลวร้ายและน่าห่วงมากกว่าฟองสบู่สินทรัพย์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นก็คือ“ภาวะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง” อันเป็นผลมาจากประชาชนทั่วไปหรือที่เราเรียกกันว่า “นักลงทุนรายย่อย” ไม่ยอมพลาดตกขบวนการลงทุนเหมือนกับรายใหญ่ และอาศัยจังหวะที่ดอกเบี้ยต่ำหันไปกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำไปลงทุน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ กู้ไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยสิ้นเปลือง หรือก่อหนี้ผ่านทางสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บรรยากาศของการโหมกระตุ้นใช้เงินช่วยชาติ

จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ช่วงไตรมาส 3 ปี 2016 พบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนของหลายประเทศล้วนปรับตัวสูงขึ้น และประเทศไทยยังติดท็อป 3 ในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ที่ 71.2% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นรองเพียงออสเตรเลีย ที่ 123% และเกาหลีใต้ที่ 91.6%

ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในจีน มาเลเซีย และประเทศไทยที่มีอัตราขยายตัวขึ้นมากกว่า 20% ระหว่างปี 2007-2015 และหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในแถบแปซิฟิกอย่างประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย

ที่ประเทศ “ออสเตรเลีย” นั้น อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะที่น่าวิตกยิ่งกว่าใครในเอเชีย-แปซิฟิก เพราะเป็นภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงควบคู่ไปกับความเสี่ยง “ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์” ไปพร้อมกันด้วย จนบริษัทจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เพิ่งปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารหลายแห่งในออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึง 4 แบงก์ใหญ่ “บิ๊กโฟร์” ประกอบด้วย แบงก์คอมมอนเวลธ์ แบงก์เอเอ็นแซด แบงก์เอ็นเอบี และแบงก์เวสต์แพ็ก

มูดี้ส์ให้เหตุผลการลดเครดิตระยะยาวครั้งนี้ว่า เป็นเพราะหนี้ครัวเรือนออสเตรเลียขยายตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยสอดคล้องไปกับความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยขยายตัวขึ้นมากโดยเฉพาะในซิดนีย์และเมลเบิร์น ในขณะที่ภาคธนาคารเองไม่ได้ปรับปรุงเรื่องการเพิ่มทุนและสภาพคล่องเลยในช่วงไม่กี่ปีนี้

แม้ว่ามูดี้ส์จะไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักของความเสี่ยงฟองสบู่อสังหาฯ แต่จากการติดตามข่าวมาตลอดจะพบว่ารัฐบาลดาวน์อันเดอร์กำลังเป็นห่วงและพยายามออกมาตรการควบคุมมาโดยตลอด หลังจากที่ 2 เมืองใหญ่ดังกล่าวติดท็อป 10 เมืองเสี่ยงฟองสบู่โลกในรายงานของยูบีเอส ท่ามกลางราคาที่ขยับขึ้นหลายเท่าตัว

ธนาคารกลางออสเตรเลียเองยังเปิดเผยตัวเลขในทิศทางเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า ราคาบ้านขยับขึ้นสูงกว่ารายได้ครัวเรือนไปแล้วกว่า 5 เท่า ในขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นไป  150% ของรายได้ครัวเรือน

 

ติดบ่วงดอกเบี้ยต่ำ หนี้ครัวเรือนโลกพุ่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญบางส่วน อาทิ ธนาคารกลางมาเลเซีย เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า หนี้ครัวเรือนของมาเลเซียที่พุ่งสูงขึ้นยังไม่ถือว่าน่ากังวลมากเกินไป เพราะเป็นการถีบตัวจากการกู้ซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย ไม่ใช่สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก แต่แนวคิดนี้อาจใช้ไม่ได้กับหลายประเทศในปัจจุบัน ที่มีสภาพคล่องทะลักเข้ามาเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมีออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก และยังพบได้ในบางประเทศยุโรปที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความเกี่ยวเนื่องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็คือ “แคนาดา” ที่มีเมืองแวนคูเวอร์ติดอันดับ 1 ของ 10 เมืองเสี่ยงฟองสบู่โลกในปีที่แล้ว โดยข้อมูลของเดือน ก.ย. 2016 พบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนของแคนาดาขยับขึ้นมาทะลุ 100.5% ของขนาดจีดีพีไปเรียบร้อยแล้ว และเป็นครั้งแรกที่หนี้ครัวเรือนมีปริมาณสูงกว่าขนาดเศรษฐกิจประเทศ สอดคล้องกับภาพรวมของหนี้ในประเทศ ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน ที่ขยับขึ้นไปทะลุ 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือทะยานไปถึง 288% ของจีดีพี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016

ส่วนในฝั่งเอเชียที่ใกล้กับบ้านเราเข้ามาหน่อยนั้น “เกาหลีใต้” ที่เพิ่งพักยกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนใหม่มาไม่นานนี้ ก็ต้องหันมาเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กลับมาพุ่งสูงอีกครั้งเช่นกัน หลังจากที่ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย-แปซิฟิก อยู่ที่ราว 91.6% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

สถานการณ์ในไตรมาส 4 ปีเดียวกันเองก็ยังไม่ดีขึ้น โดยหนี้ขึ้นไปอยู่ที่ 92.8% หรือเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในการจัดอันดับโดยบีไอเอส หนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้เร่งเครื่องขึ้นมาแรงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากนอร์เวย์ที่เพิ่มขึ้น 6.3% และจีนที่เพิ่มขึ้น 5.6% แต่หากเทียบในกลุ่ม 21 ประเทศตลาดเกิดใหม่แล้ว เกาหลีใต้ยังคงครองแชมป์มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน ตามมาด้วยมาเลเซียและไทย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง เป็นเพราะในสมัยของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮ ได้กระตุ้นความคึกคักของเศรษฐกิจทางหนึ่งด้วยการลดหย่อนเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และหนี้ต่อรายได้รวม (DTI) ลง 10-20% ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้น 10% ในปี 2015 จากปีก่อนหน้าที่ 6% และยังไม่นับรวมการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งในยุคดอกเบี้ยต่ำ

รัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ จึงต้องหันมาเดินหน้าควบคุมหนี้ครัวเรือนอีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งจะควบคุมผ่านทางตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในกรุงโซลและบางเขตในปูซาน ซึ่งราคาเฉลี่ยของอพาร์ตเมนต์ขยับขึ้นไปกว่า 20% เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน โดยได้ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เข้มข้นขึ้นเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้

ราคาสินทรัพย์ที่ขยับขึ้นอย่างน่ากังวลไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินโลก ที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะตึงตัวอีกครั้งในรอบเกือบ 10 ปี นำโดยเฟด ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาจับตาและควบคุมหนี้ให้รัดกุมขึ้นหลังจากนี้