posttoday

รวย-จน เพราะรู้ไม่เท่ากัน!

25 มิถุนายน 2560

“ความรู้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ”...คำพูดนี้เป็นสรุปแบบย่อจาก ศ.อีริค แมสกิน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์

โดย...ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]

“ความรู้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ”...คำพูดนี้เป็นสรุปแบบย่อจาก ศ.อีริค แมสกิน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้มาบรรยายทฤษฎีของท่านในไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างยิ่งค่ะ ที่จัดให้มีการบรรยายดีๆ อย่างนี้...

ที่จริง ใครๆ ก็รู้ว่า ผู้ที่มีความรู้มากกว่าย่อมได้เปรียบ แต่ ศ.อีริค ท่านเอามาพิสูจน์ในโมเดลคน 4 พวก คือ  A, B, C, D ของท่านที่ทำให้ชาวโลกเข้าใจได้มากขึ้น

คำถามเริ่มต้นที่ว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เกิดการโยกย้ายเงินทุนจำนวนมหาศาลในระบบเศรษฐกิจของโลก ภายใต้คำจำกัดความของ Foreign Direct Investment หรือ “การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ” ไปยังประเทศโลกที่สาม...โดยประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความรู้ทางเทคโนโลยีมากกว่าคนอื่นได้ส่งออกความรู้และเงินทุนตามกระบวนการ Technology Transfer คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่โรงงานผลิตของตนเอง ในประเทศอื่นๆ...สันนิษฐานได้ว่า เมื่อเอาความรู้ไปให้ มีความรู้เท่ากันจึงผลิตสินค้าตามมาตรฐานเดียวกันออกไปขายได้ แต่แล้วทำไม คนไทย เวียดนาม คนในประเทศแอฟริกา อเมริกาใต้ คนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังจนกว่าคนอเมริกัน คนอังกฤษ คนญี่ปุ่น คนเกาหลี ฯลฯ...

ท่านได้อธิบายด้วยโมเดลสมมติ ว่า ถ้า นาย A คือ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้นวัตกรรมสุดยอดจากอเมริกา นาย B คือ ผู้จัดการชาวฟิลิปปินส์ที่อเมริกันจ้างไปดูแลโรงงานผลิต ส่วน นาย C คือ หัวหน้างานชาวเวียดนาม และ นาย D คือ คนงานเวียดนาม เมื่อ นาย A สอนงานให้ นาย B / นาย B ไปสอนให้นาย C / นาย C ไปสอนให้นาย D...ใครเชื่อบ้างว่า นาย D จะมีความเก่งเท่า นาย A...แล้วท่านก็อธิบายด้วยตัวเลข บวกลบคูณหารง่ายๆ สลับกันไปมาค่ะ สรุปตัวเลขออกมาว่า ยังไงความสามารถของนาย D ไม่มีทางเท่า นาย A ดังนั้น เงินเดือนที่นาย D ได้ก็ย่อมไม่เท่ากับที่นาย A ได้แน่ๆ...

ในตอนท้ายช่วงถามตอบ จึงได้ข้อสรุปว่า “รัฐบาลประเทศโลกที่สามที่นั่งฝันหวานถึงตัวเลขลงทุนมหาศาลในโรงงานผลิตที่มาจากต่างชาติ ควรสนใจดูว่าคนที่มาลงทุนเขาเอาอะไรมาสอน และคนของท่านได้อะไรมา กำหนดในระดับนโยบายไปเลยว่าคนของท่านควรจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไร” และ “หากตราบใดที่โน้ตบุ๊ก Apple 1 เครื่อง ยังมีราคาเท่ากับข้าวเปลือกที่ชาวนาปลูกขาย 4,000 กิโลกรัมอยู่ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็ยังคงถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ”​

ครั้งหนึ่งเกาหลีก็เคยเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาค่ะ ผ่านไป 30 ปี กลายเป็นนักลงทุนถ่ายทอดเทคโนโลยีไปประเทศอื่น เอาความรู้ไปขาย และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรุงโซลเมืองหลวง กลายเป็นเมืองระดับ Mega City จึงคิดโมเดล “เมืองอัจฉริยะ U-City” ของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนพลังงาน อาชญากร การคมนาคมขนส่ง การบริการทางการแพทย์และการบริการของรัฐที่อาจให้บริการไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ ประชากรเกาหลีมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี U-City จึงต้องทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้ชุมชนด้วย

ระบบ u-Health Care และระบบ u-Seoul Safety Service น่าเป็นตัวอย่างที่ดีเลยค่ะ ระบบ u-Health Care ออกแบบให้รองรับชีวิตที่สะดวกขึ้นของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว โรงพยาบาลสามารถตรวจติดตามสุขภาพ เช่น ความดัน การเต้นของหัวใจ อาการเหนื่อยหอบ ระดับน้ำตาล ของคุณปู่คุณย่าผ่านทางจอมอนิเตอร์ ทำให้ผู้เฒ่าไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย และสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพออนไลน์ในเรื่องที่ไม่ฉุกเฉินได้ด้วย

เริ่มต้น คุณปู่คุณย่าผู้ใช้งานจะต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพของตนเองที่บ้านและลงทะเบียนในระบบก่อน ทุกๆ ท่านต้องตรวจเช็กสุขภาพด้วยตนเองสม่ำเสมอ และส่งข้อมูลสุขภาพเข้าระบบออนไลน์ ระบบ Artificial Intelligent ก็จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพที่ส่งเข้ามานั้น และเตือนให้แพทย์ พยาบาลผู้ดูแลทราบเมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดความเสี่ยง

ส่วนระบบ u-Seoul Safety Service เป็นระบบที่เฝ้าระวังความปลอดภัยให้เด็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองหรือผู้ดูแล (หรือที่อื่น เช่น สถานีตำรวจ ที่ติดตั้งไว้) เมื่อเด็กหรือผู้ป่วยออกจากบริเวณที่กำหนดไว้ว่าควรจะอยู่บริเวณนั้น หรือเมื่อเด็กหรือผู้ป่วยกดปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากอุปกรณ์ติดตามตัว เทคโนโลยีที่ใช้มีหลายระบบร่วมกัน คือ GPS, Location Based Services (LBS) และกล้อง CCTV ผนวกกับคลื่น RFID ระบุตัวบุคคลที่ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์ประจำตัวของแต่ละคน ทำให้สามารถตามตัวได้ว่าอยู่ที่ไหน หากถูกยึดไปก็ยังรู้ว่าจุดสุดท้ายนั้นอยู่ที่ใด ปัจจุบัน RFID เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลายแล้ว เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรือบัตรผ่านทาง ดังนั้น เทคโนโลยีนี้จึงมีราคาถูกลงกว่าในระยะแรก หากจะลงทุนในระบบนี้ในเมืองเล็กๆ เป็นที่เรียนรู้ก่อนก็น่าจะดีค่ะ

ความรู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ ที่เกาหลีเริ่มต้นมา 12 ปีก่อน ทำให้เขามีความรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ตอนนี้ก็เริ่มขายของได้อีกแล้วค่ะ ลูกค้ารายแรกที่เห็นว่าเทคโนโลยีการสร้างเมือง Smart City เกาหลีบนแนวคิด “รื้อหมู่บ้านเก่าสร้างเมืองใหม่ให้ฉลาดกว่าเดิม” ได้แก่ คูเวต ซึ่งได้เซ็นสัญญาว่าจ้าง Korea Land and Housing Corporation ด้วยเงิน 41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อออกแบบเมืองใหม่ของโครงการ “New Kuwait 2035” ที่มีมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ โดยใช้ “เมืองบุนดัง” ใกล้กรุงโซลเป็นต้นแบบ...งานนี้เริ่มก่อสร้างปี 2019 คาดว่า บริษัทก่อสร้างเกาหลีที่ชำนาญงานเพราะทำมาแต่ต้นก็คงได้งานไป มีโอกาสรวยซ้ำซากอีกแล้วค่ะ...