posttoday

แรงงานเอเชีย

16 กันยายน 2553

หนึ่งในปัญหาที่เริ่มปะทุขึ้นมาให้เห็นกันชัดเจนขึ้นก็คือปัญหาภาคแรงงานในเอเชียครับ ตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ผ่านมา เราได้ยินปัญหาของแรงงานในหลายประเทศมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานจีนที่เกิดความไม่สมดุลกันขึ้นอย่างสุดขั้วระหว่างชั่วโมงการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ และค่าจ้างแรงงาน

หนึ่งในปัญหาที่เริ่มปะทุขึ้นมาให้เห็นกันชัดเจนขึ้นก็คือปัญหาภาคแรงงานในเอเชียครับ ตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ผ่านมา เราได้ยินปัญหาของแรงงานในหลายประเทศมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานจีนที่เกิดความไม่สมดุลกันขึ้นอย่างสุดขั้วระหว่างชั่วโมงการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ และค่าจ้างแรงงาน

โดย...ธนพล ไชยภาษี

อย่างเมื่อวานนี้สถานการณ์การประท้วงของแรงงานในกัมพูชาก็เริ่มวิกฤตหนักขึ้นทุกๆ เมื่อ แรงงานกว่า 1.9 แสนคน จาก 90 โรงงานทั่วประเทศเข้าร่วมการประท้วง เพียงวันเดียวจำนวนคนประท้วงเพิ่มขึ้นมาจากที่ 6 หมื่นคนครับ

ในเอเชียน่าจะเป็นภูมิภาคไม่กี่แห่งในโลกที่ยิ่งแรงงานทำงานหนัก ใช้แรงกายมาก แต่กลับได้ค่าแรงถูก สวนทางกับบรรดาประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิงที่แรงงานใช้แรงงานส่วนใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า พวกบลูคอลลาร์ (Blue Collar) นั้นรับรายได้แทบจะไม่ต่างจากแรงงานกินเงินเดือนตามสำนักงานทั้งหลาย

แต่ก็ต้องยอมรับสภาพอย่างหนึ่งที่ว่า ในเอเชียส่วนมากยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาภาคการผลิต และการส่งออก อีกทั้งสินค้าจากเอเชียยังเป็นสินค้าราคาถูก ประเภทสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ซึ่งถ้าเทียบกับสินค้าจากประเทศตะวันตกแล้วถือว่าราคาเล็กน้อยมากครับ ในขณะที่กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้า ไทยส่งออกข้าว แต่สวีเดนนั้นส่งออกเหล็ก สหรัฐส่งออกเทคโนโลยี ซึ่งมีราคาสูงกว่าหลายสิบเท่าตัว

ยิ่งประเทศในเอเชียยิ่งต้องพึ่งพาการผลิตและส่งออกสินค้าราคาถูกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานมากขึ้นเท่านั้น และก็เป็นเรื่องน่าเศร้าครับ ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะไม่ยินดีกับการปรับขึ้นค่าแรง ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันในการเป็นแหล่งลงทุนนั้นด้อยลงไป

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ ดำเนินมาเป็นทศวรรษแล้ว จึงไม่แปลกที่แรงงานในจีนจะได้ค่าแรงตกวันละ 30 กว่าบาท หรือจะเป็นแรงงานในเวียดนาม ในกัมพูชา ที่ได้ค่าแรงวันละไม่ถึงร้อยบาท ในขณะที่ค่าครองชีพในประเทศเหล่านี้กำลังถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนแรงงานตามไม่ทัน

อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ และสวัสดิการของแรงงานยังอยู่ในสภาพย่ำแย่ ในหลายเมืองอุตสาหกรรมตอนใต้ของจีนนั้น ที่พักอาศัยของแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงงาน ซึ่งมีสภาพแออัด ขาดพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่มีเวลาหยุดพัก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดข่าวแรงงานในจีนฆ่าตัวตายเป็นระยะๆ

ปัญหานี้กำลังจะเป็นปัญหาท้าทายเอเชียมากที่สุดในยุค พ.ศ.นี้ ที่ช่องว่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งห่างจากระดับการพัฒนาทั้งค่าแรง และสวัสดิการของแรงงานที่มักจะถูกกดราคาไว้มากตามไปด้วย

ต่อไปนี้จะได้ยินข่าวแรงงานประท้วงขอขึ้นค่าแรงในอีกหลายๆ ประเทศครับ