posttoday

เบร็กซิตเสี่ยงพลิกเผย3รูปแบบเจรจา

10 มิถุนายน 2560

ความไม่แน่นอนของการเมืองอังกฤษ เสี่ยงส่งผลให้การเจรจาเบร็กซิตเป็นไปได้ 3 รูปแบบ

ความไม่แน่นอนของการเมืองอังกฤษ เสี่ยงส่งผลให้การเจรจาเบร็กซิตเป็นไปได้ 3 รูปแบบ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในอังกฤษ คาดว่าจะส่งผลให้การเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบแรก คือ อังกฤษจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ และเดินหน้าเจรจาฮาร์ดเบร็กซิต หรือการให้อังกฤษถอนตัวออกจากตลาดเดียวอียู แลกเปลี่ยนกับการไม่ต้องแบ่งงบประมาณไปให้อียู และเป็นอิสระจากกฎข้อบังคับต่างๆ ของทางสหภาพ

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน รายงานว่า ฮาร์ดเบร็กซิตไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจะส่งผลเสียและเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอังกฤษมากกว่า โดยรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่มีแนวโน้มยึดจุดยืนให้อังกฤษควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานเอง ขณะที่ผลักดันการเจรจาการค้าเสรีแบบครอบคลุมกับทุกประเทศ

สำหรับรูปแบบที่ 2 คือ ซอฟต์ เบร็กซิต ซึ่งเป็นการผลักดันให้อังกฤษยังคงรักษาการเข้าถึงตลาดเดียวของอียู แม้พรรคอนุรักษนิยมจะได้คะแนนเสียงสูงสุด แต่ก็นำพรรคแรงงานอยู่ไม่ห่างมากนัก หมายความว่า ผลการเลือกตั้งดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลใหม่กลับไปทบทวนท่าทีเจรจาโดยลดความแข็งกร้าวลง

ทว่า ซอฟต์เบร็กซิตอาจเป็นปัญหาสำหรับทางอียู แม้ 27 ประเทศอียูอาจยอมให้อังกฤษยังเข้าถึงตลาดเดียวอียูแบบนอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์ได้ แต่อังกฤษยังจำเป็นต้องแบ่งงบประมาณมาสมทบในงบประมาณของอียูและเคารพกฎเกณฑ์ของทางสหภาพ ซึ่งรวมถึงกฎการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีด้วย จึงจะสามารถเรียกร้องสิทธิดังกล่าว โดย รอยเตอร์สรายงานว่า บรรดาผู้นำอียูยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลอังกฤษจะยอมทำตามเงื่อนไขดังกล่าวของทางอียูหรือไม่

ขณะที่รูปแบบที่ 3 คือความปั่นป่วนในการเจรจาเบร็กซิต ที่อังกฤษอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ กับทางอียูได้เลย หลัง มิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาจากฝั่งอียูส่งสัญญาณเลื่อนวันเจรจาเมื่ออังกฤษพร้อม โดยเดอะ การ์เดี้ยน รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า วันเริ่มเจรจาอาจเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 22 มิ.ย. จากกำหนดเดิมที่ 19 มิ.ย. แต่กลับไม่ยอมเลื่อนกำหนดการพ้นความเป็นสมาชิกอียูใน วันที่ 30 มี.ค. 2019

ทั้งนี้ อียูอาจใช้สถานการณ์ขณะนี้ของอังกฤษยืนยันให้อังกฤษยอมจ่ายค่าการออกจากสหภาพเป็นเงิน 1 แสนล้านยูโร (ราว 3.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งหากอังกฤษไม่ยินยอม อียูอาจบีบให้อังกฤษเลือกระหว่างการทำข้อตกลงที่เสียเปรียบกับการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดได้