posttoday

การเมืองอังกฤษเสี่ยงชะงักงัน

09 มิถุนายน 2560

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ชี้ ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ปลุกความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอังกฤษและการเจรจาเบร็กซิต

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ชี้ ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ปลุกความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอังกฤษและการเจรจาเบร็กซิต

เอพีรายงานว่า จากผลการเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งประกาศผลการนับคะแนนไปแล้ว 646 ที่นั่ง จาก 650 ที่นั่ง พรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ได้ที่นั่งไป 316 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคแรงงานฝ่ายค้านที่ 261 ที่นั่ง และพรรคชาติสก็อต (เอสเอ็นพี) ของนายกรัฐมนตรี นิโคลา สเตอร์เจียน ที่ 35 ที่นั่ง ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งดังกล่าวบ่งชี้ว่า ไม่มีพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 326 ที่นั่ง ทำให้ขณะนี้บรรดาพรรคต่างๆ ต้องหาทางเจรจากันเองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อังกฤษเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางการเมือง และสถานะความเป็นผู้นำประเทศของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากมาได้ตามที่เมย์คาดหวังไว้ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมย์อาจได้รับความกดดันทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

รอยเตอร์สรายงานว่า เจเรมี คอร์บิน หัวหนัาพรรคแรงงานฝ่ายค้าน เรียกร้องให้เมย์ลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ

"ท่านนายกฯสั่งให้จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะต้องการเพิ่มความสามารถในการสั่งการบริหาร ซึ่งสิ่งที่เมย์ได้ตอนนี้ คือพรรคอนุรักษนิยมเสียที่นั่งในสภาไป เสียงคะแนนเสียง เสียการสนับสนุน และเสียความเชื่อมั่น" คอร์บิน กล่าว

ด้านสเตอร์เจียน ผู้นำพรรคเอสเอ็นพี ออกมาแสดงความผิดหวังต่อผลการเลือกตั้งดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นายกฯเมย์ ระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องสร้างเสถียรภาพร่วมกัน

"ในช่วงเวลานี้ อังกฤษต้องการช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพเหนือสิ่งอื่นใด หากตัวบ่งชี้ต่างๆ ปรากฏออกมาแล้ว และเป็นที่ถูกต้องชัดเจนว่า พรรคอนุรักษนิยมได้ที่นั่งมากที่สุด อาจจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด เมื่อนั้น เราจะยังคงมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นว่า เราจะมีช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพ และนั่นคือสิ่งที่เราจะทำอย่างแน่นอน" เมย์ กล่าว

ด้านสมาชิกอียูชาติอื่นๆ วิตกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษ อาจทำให้อังกฤษไม่สามารถจัดการเจรจาเบร็กซิตได้ และต้องออกจากสหภาพตามกำหนดวันที่ 30 มี.ค. 2019 โดยที่ยังไม่บรรลุข้อตกลงหลังออกจากอียู ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนให้กับภาคธุรกิจและปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่อังกฤษสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้แล้ว การเจรจาเบร็กซิตที่ลดความแข็งกร้าวลงจากรัฐบาลเมย์ หรือ ซอฟต์เบร็กซิต จะเป็นปัญหาสำหรับอียูเช่นกัน เนื่องจาก ฝ่ายซอฟต์เบร็กซืตต้องการให้อังกฤษยังอยู่ในตลาดเดียวของอียูต่อ แม้ประเทศอียู 27 ประเทศอาจยอมให้อังกฤษยังเข้าถึงตลาดเดียวอียูแบบนอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์ได้ แต่อังกฤษยังจำเป็นต้องแบ่งงบประมาณมาสมทบในงบประมาณของอียูและเคารพกฎเกณฑ์ของทางสหภาพ ซึ่งรวมถึงกฎการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีด้วย จึงจะสามารถเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้

รอยเตอร์สรายงานว่า บรรดาผู้นำอียูยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลอังกฤษจะยอมทำตามเงื่อนไขดังกล่าวของทางอียูหรือไม่

การเมืองอังกฤษเสี่ยงชะงักงัน เจ้าหน้าที่เขตเลือกตั้งต่างเร่งนับคะแนนอย่างเคร่งเครียด

การเมืองอังกฤษเสี่ยงชะงักงัน