posttoday

การจัดการขยะทะเล ในแบบ Thailand 4.0

28 พฤษภาคม 2560

จากการจัดอันดับขององค์กรนานาชาติ ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 5 ของโลก

โดย...ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

จากการจัดอันดับขององค์กรนานาชาติ ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 5 ของโลก

เรื่องนี้คงไม่น่าภาคภูมิใจ แต่ผลกระทบมันมากมายกว่าการขายหน้าชาวโลก เพราะขยะพลาสติกในทะเลหรือที่ผมขอใช้คำว่า “ขยะทะเล” กลายเป็นประเด็นระดับโลก

องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การเดินทางไปร่วมประชุม UN ที่นิวยอร์กของคณะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะไปนำเสนอและรับฟังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เหตุใดทำไมคนทั้งโลกให้ความสนใจ คำตอบคือขยะพลาสติกมีอายุยาวนานหลายร้อยปีกว่าจะสลาย

ระหว่างนั้นกระแสน้ำก็พัดพาขยะลอยไปทั่ว ขยะจากแม่น้ำเมืองไทยอาจลอยไปถึงนิวยอร์กหรือเวนิส ไปได้ทุกหนแห่งในโลก

ในเมื่อหลายประเทศพยายามรณรงค์เรื่องขยะทะเลจนสามารถลดจำนวนอย่างได้ผล เขาคงไม่อยากให้มีขยะทะเลไทยลอยไปในทะเลของเขาแทน ส่งผลให้สัตว์ทะเลหายากในทะเลเขาต้องตาย หรือแม้กระทั่งไมโครพลาสติกหรือพลาสติกจิ๋วระดับไมโครจนถึงนาโนเมตร ปนเปื้อนเข้าไปในสายใยอาหาร ก่อนเข้ามาสู่มนุษย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในภายหลัง

หลังจากเกิดกรณีแพขยะทะเลยาวนับสิบกิโลเมตรกลางอ่าวไทย ทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักปัญหาและพยายามขับเคลื่อนอย่างจริงจัง กระทรวงทรัพยากรฯ จัดระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนได้ข้อยุติว่าจะมีการจัดประชุมการจัดการปัญหาขยะทะเลระดับประเทศในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมขยะทะเลใน ASEAN เป็นครั้งแรกประมาณเดือน ต.ค. โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในส่วนของต้นน้ำที่ภาครัฐและภาคเอกชนพยายามหาทางออกร่วมกัน ทั้งในส่วนของการลดพลาสติกและการใช้ Green Innovation ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ไบโอพลาสติก

ในส่วนกลางน้ำที่ต้องมีระบบจัดการขยะบนบกให้ดีกว่าที่เป็นในปัจจุบัน และในส่วนปลายน้ำที่ต้องมีการเก็บขยะจากทะเลขึ้นมา อาจพัฒนาเรือเก็บขยะทะเล จนถึงการนำขยะทะเลกลับมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์รุ่นรักษ์โลก เช่น เสื้อ เป้ ฯลฯ ที่ปัจจุบัน PTTGC และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำลังร่วมดำเนินการอยู่กับบริษัทชั้นนำในยุโรป

การขับเคลื่อนครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่ชัดเจนที่สุดของประเทศไทย นอกเหนือไปจากการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เล็งเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งในด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มทยอยเข้ามาร่วมมือกันเป็นเครือข่าย

ยังหมายถึงการนำแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการแบบ Area Based เช่น อุทยานทางทะเลปลอดถุงพลาสติก โดยเริ่มจากหมู่เกาะพีพีและอ่าวพังงา และการจัดการแบบ Category Based ที่แยกผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบแตกต่างกัน และ/หรือ มีอายุในทะเลแตกต่างกัน เพื่อให้ลำดับการจัดการอย่างเป็นขั้นตอน

ทั้งหมดที่ผมเล่ามา เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจัดการขยะทะเลจะเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทย ใช้ทั้งนวัตกรรมและความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด Thailand 4.0 อย่างแท้จริงครับ