posttoday

เอเดรียน เกรเนียร์ ‘เลิกดูดเพื่อมหาสมุทร’

21 พฤษภาคม 2560

เป็นที่รู้จักจากทีวีซีรี่ส์เรื่อง Entourage ในปี 2004 จากนั้น เอเดรียน เกรเนียร์ ก็กลายเป็นประชากรฮอลลีวู้ดชื่อดัง

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

เป็นที่รู้จักจากทีวีซีรี่ส์เรื่อง Entourage ในปี 2004 จากนั้น เอเดรียน เกรเนียร์ ก็กลายเป็นประชากรฮอลลีวู้ดชื่อดังในฐานะนักแสดง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักดนตรี อีกทั้งในหลายปีหลังเขายังหันมาทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิโลนลีเวล (Lonely Whale Foundation) ในปี 2015 เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเอาใจใส่และปกป้องมหาสมุทร รวมทั้งชีวิตทางทะเล

มูลนิธิโลนลีเวลเกิดขึ้นหลังจากที่เอเดรียนได้รับรู้เรื่องราวของวาฬผู้โดดเดี่ยว (52-hertz whale) ซึ่งมีเสียงในระดับความถี่แตกต่างจากวาฬอื่นๆ จึงต้องอยู่เพียงลำพังในทะเลกว้างใหญ่ “เรื่องของโลนลีเวลได้เชื่อมต่อเราทุกคนเข้ากับมหาสมุทร ช่วยให้เรารู้จักและเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” ต่อมามูลนิธิประกาศสร้างสารคดีเกี่ยวกับวาฬโดดเดี่ยวโดยระดมทุนผ่าน Kickstarter ซึ่งต้องขอบคุณ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่ช่วยลงเงินก้อนใหญ่

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เอเดรียนได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ 3 เดือนก่อนเขาเป็นหนึ่งในวิทยากรของงานเวิลด์ โอเชียน ซัมมิท ที่บาหลี อินโดนีเซีย เอเดรียนยังทำงานร่วมกับเดลล์ในโปรเจกต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำขยะพลาสติกในท้องทะเลมารีไซเคิลและผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ในฤดูร้อนที่ผ่านมาเอเดรียนรับคำท้าจาก ริชาร์ด แบรนสัน แห่งเวอร์จิน เขาไปร่วมว่ายน้ำข้ามช่องแคบเมสซีนาในอิตาลี เพื่อปลุกจิตสำนึกเรื่องคุณภาพของมหาสมุทร “ระหว่างที่ว่ายน้ำ 3.3 กม.ผมไม่เห็นปลาเลย มีพลาสติกมากมาย”

เป็นไปได้ว่า 30 ปีจากนี้จำนวนพลาสติกในทะเลอาจจะมากกว่าปลา โครงการ Strawless Ocean ของมูลนิธิโลนลีเวลจึงเกิดขึ้น โดยมุ่งหวังให้ทุกคนเลิกใช้หลอดพลาสติก ซึ่งนำไปสู่การลดขยะพลาสติกในท้องทะเล

“เพราะสภาพของมหาสมุทรเชื่อมโยงโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรเป็นอ่างคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 70% ของก๊าซออกซิเจนอยู่ที่นี่ ถ้ามหาสมุทรตายเราก็ตายไปด้วย กรดในมหาสมุทรเกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะที่ขยะพลาสติกจำนวนมาก (ราว 10 ล้านตัน/ปี) กำลังไหลลงสู่มหาสมุทร ถ้าไม่เริ่มทำในวันนี้ เราจะเสี่ยง ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรเกือบ 1,000 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายฝั่งทั่วโลก”

ผลกระทบของหลอดที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอาจจะถูกมองข้าม แต่เอเดรียนกลับเห็นว่า พลาสติกชิ้นเล็กๆ นี้ก่อปัญหาใหญ่ได้ เพราะทุกวันมีการใช้หลอดจำนวนมหาศาล เฉพาะในสหรัฐนั้นมากถึง 500 ล้านหลอด/วัน ก่อนจะไปรวมกันอยู่ในมหาสมุทร เอเดรียนมองว่า หลอดคือ “เกตเวย์” ของพลาสติก ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจและดำเนินการกับพลาสติกที่ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวในหมู่ผู้บริโภคและผู้นำทางอุตสาหกรรมของโลก

งานนี้เพื่อนๆ เซเลบของเอเดรียนก็มาร่วมรณรงค์ โดยติดแฮชแท็ก #StopSucking และ #StrawlessOcean ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อชักชวนผู้คนมาให้คำมั่นสัญญาว่า จะละลดเลิกการใช้หลอดกับ Strawlessocean.org บนเว็บไซต์นี้ยังมีคำแนะนำและคู่มือสำหรับร้านอาหาร โรงแรม สถานประกอบการอื่นๆ

ทีมโลนลีเวลทำงานกับร้านอาหารและเชฟดังเพื่อช่วยหาทางเลือกอื่นซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหลอดกระดาษ โลหะ ไม้ไผ่ หรือฟาง ทีมงานเข้าไปให้ข้อมูลและช่วยเปลี่ยนแปลงในชุมชนต่างๆ “หลอดมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ซึ่งเรากำลังทำงานร่วมกับกลุ่มคนพิการ เพื่อให้แน่ใจว่ามีทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรกับทะเลสำหรับพวกเขา”

โครงการจากความหลงใหลเกี่ยวกับการอนุรักษ์มหาสมุทรของ เอเดรียน เกรเนียร์ วัย 40 ปี มีมูลนิธิโลนลีเวลและผู้ร่วมอุดมการณ์มาสนับสนุน “ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ เราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามลำพัง การทำงานเพื่อดูแลมหาสมุทรของโลนลีเวลก็เช่นเดียวกัน เราต้องการเพื่อน นั่นคือเหตุผลที่เราสร้างแนวคิดเรื่อง ‘การทำดีร่วมกัน’ เราต้องทำงานกับองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง”

Strawless Ocean อาจเป็นเพียงโครงการเล็กๆ แต่ถ้าได้รับความร่วมมือมากพอก็สามารถกลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ซึ่งช่วยเหลือมหาสมุทรได้อย่างคาดไม่ถึง