posttoday

ยาต้านเอชไอวีรุ่นใหม่ช่วยผู้ป่วยมีอายุขัยยืนยาวเทียบเท่าผู้ไม่ติดเชื้อ

12 พฤษภาคม 2560

นอกจากประสิทธิภาพของยารุ่นใหม่แล้ว การตรวจหาเชื้อไวรัสทันทีเมื่อได้รับความเสี่ยงมีส่วนช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีอายุขัยยืนยาวขึ้น

นอกจากประสิทธิภาพของยารุ่นใหม่แล้ว การตรวจหาเชื้อไวรัสทันทีเมื่อได้รับความเสี่ยงมีส่วนช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีอายุขัยยืนยาวขึ้น

ผลการศึกษาใหม่ชี้ว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวีสมัยใหม่ช่วยให้บรรดาคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อไวรัสสามารถมีอายุขัยยืนยาวขึ้นได้อีก 10 ปี

รายงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุผู้ติดเชื้อไวรัสช่วงวัย 20 ปี ที่เริ่มต้นใช้ยาต้านไวรัสรุ่นใหม่ในปี 2010 คาดกันว่าจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นกว่าเดิม 10 ปี เมื่อเทียบกับผู้เริ่มใช้ยาต้านไวรัสในปี 1996 ซึ่งเป็นช่วงการใช้ยาต้านไวรัสเริ่มแพร่หลาย

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bristol ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ประโยชน์ และความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากในยาต้านไวรัสรุ่นใหม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้น้อยลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการยับยั้งเชื้อไวรัสไม่ให้เกิดอาการดื้อยา อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของยาจะได้ผลที่ดีมากขึ้นเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้อตรวจพบเชื้อ และใช้ยายับยั้งได้เร็วเท่านั้น

ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงคาดหวังว่าผลการวิจัยนี้จะทำลายความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับสุขภาพ และอายุขัยของผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงปรับปรุงให้ในหลายๆประเทศบรรดาผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายดายมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนั้นยังรณรงค์ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประสิทธิภาพของยา เช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกเคยออกมาให้คำแนะนำ

ผลสำรวจครั้งนี้ผ่านการวิเคราะห์ข้องมูลจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 88,500 คน ใน 18 ประเทศของยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือพบว่า มีผู้คนเพียงน้อยนิดที่เสียชีวิตระหว่างการใช้ยาต้านไวรัสรุ่นใหม่ ในช่วงปี 2008 - 2010

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1996 - 2013 อายุขัยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในช่วงวัย 20 ปี คาดกันว่าเพิ่มขึ้น 10 ปี ในผู้หญิง และ 9 ปี ในผู้ชาย และจากการศึกษาเพิ่มเติม ในช่วงปี 2008 - 2010 อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายที่เริ่มใช้ยาต้านไวรัสรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 20 ปี คิดเป็นเฉลี่ย 73 ปี ส่วนในผู้หญิงอยู่ที่เฉลี่ย 76 ปี

ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เชื่อว่ายังมีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 8 ที่ยังไม่ได้รับการตรวจ เช่นรายงานจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในปี 2015 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีราว 37 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 17 คน ที่เข้าถึงยาต้านไวรัส โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับเชื้อมาจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่อาจเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้

 

 

ขอบคุณภาพจาก AFP