posttoday

ท่องเที่ยวไทย

13 เมษายน 2560

วันนี้คือวันสงกรานต์ เป็นวันสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของไทย ผมจะขอพูดเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว

โดย...อรุณ จิรชวาลา

วันนี้คือวันสงกรานต์ เป็นวันสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของไทย ผมจะขอพูดเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว แต่บังเอิญมีความสำคัญสูง ประกอบกับเรากำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ไปอีก 20 ปี ผมอยากให้มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปด้วย

เรื่องดังกล่าวคือเรื่องที่เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว มาสเตอร์การ์ดได้จัดอันดับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในโลก โดยในปี 2016 สามารถเขี่ยลอนดอนลงจากอันดับ 1 ไปอยู่อันดับ 2 แล้วขึ้นเป็นที่ 1 แทน มาสเตอร์การ์ดประมาณการว่า ทั้งปีกรุงเทพฯ จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 21.47 ล้านคน เปรียบกับลอนดอน 19.88 ล้านคน ส่วนอันดับ 3-5 มีปารีส สิงคโปร์ และนิวยอร์ก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวของแต่ละเมืองจะยังห่างไกลจาก 2 อันดับแรกมาก

เมืองที่ถูกจัดอันดับมีทั้งหมด 132 เมืองทั่วโลก โดยอันดับ 1 ตั้งแต่เริ่มจัดอันดับเมื่อ 7 ปีก่อนสลับกันไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับลอนดอน ระยะหลังกรุงเทพฯ มีแนวโน้มดีกว่า ยกเว้นปี 2014-2015 ที่เรามีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ลอนดอนผงาดกลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองเดียวในเอเชียที่เคยขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจโดยสำนักไหน ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราคนไทยทุกคน เราต่างคาดหวังให้กรุงเทพฯ รักษาตำแหน่งแชมป์ไว้ให้ได้นานๆ

อย่างไรก็ตาม ในเชิงเศรษฐกิจ มีสถิติที่สำคัญกว่าความเป็นที่ 1 ของกรุงเทพฯ อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือจำนวนนักท่องเที่ยวรวมของทั้งประเทศ ซึ่งในปี 2015 ประเทศที่นำโด่งคือฝรั่งเศสที่ 84.5 ล้านคน รองลงมาในอันดับ 2-5 คือ สหรัฐ 77.5 ล้านคน สเปน 75.2 ล้านคน จีน 56.9 ล้านคน และอิตาลี 50.7 ล้านคน ส่วนไทยมี 29.9 ล้านคน ยังไม่อยู่ใน 10 อันดับแรก แม้ว่าในเอเชียจะเป็นที่ 2 รองเพียงจีน

อีกเรื่องหนึ่งคือ ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่วัดยากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว และต่างสำนักอาจมีประมาณการที่ต่างกันมาก แต่ที่แน่นอนคือ กรุงเทพฯ ของเราไม่ได้ครองอันดับ 1 เพราะค่าครองชีพของเราถูกกว่าอีกหลายประเทศ เมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่ากรุงเทพฯ คือ ดูไบ ลอนดอน และนิวยอร์ก ส่วนในระดับประเทศ เราน่าจะยิ่งห่างไกลจากอันดับต้นๆ มาก เพราะนอกจากเรื่องค่าครองชีพถูกแล้ว นักท่องเที่ยวของเราส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงมาก เช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่

ผมมีข้อสังเกตอีกหลายประการที่อยากจะพูดถึงเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ดังนี้

หนึ่ง การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่เราถนัด เพราะคนไทยโดยทั่วไปมีอัธยาศัยดี ประกอบกับเรามีปัจจัยที่เอื้อหลายประการ เช่น ความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค การมีค่าครองชีพที่ไม่แพงจนเกินไป การมีอาหารหลากหลายและจานเด็ดหลายจาน การมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทชายหาด เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต กระบี่ และสมุย การมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น พระบรมมหาราชวังและวัดวาอารามต่างๆ การมีแหล่งบันเทิงอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และการมีธุรกิจบ้านพักคนชรา เป็นต้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นโดยความสามารถของภาคเอกชนเกือบทั้งหมด ภาครัฐที่ผ่านมามีบทบาทค่อนข้างน้อย ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังและเป็นระบบ โอกาสที่ภาคเศรษฐกิจนี้จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะยังมีอีกมาก

สอง เรามีจุดอ่อนอยู่หลายประการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้เพียงแต่รัฐต้องเป็นแกนนำ และต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง เช่นเรื่องภาษา จำนวนและสัดส่วนคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษยังมีน้อยกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ รัฐควรส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จะเป็นผลดีกับทุกภาคส่วน

เรามีปัญหามิจฉาชีพที่ทำมาหากินอยู่กับการหลอกลวงนักท่องเที่ยว รัฐบาลน่าจะทำการกวาดล้างอย่างจริงจัง เพราะคนกลุ่มนี้หาตัวไม่ยาก ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวบริเวณสนามบิน ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือขับรถรับจ้างสาธารณะ บางครั้งการหลอกลวงนักท่องเที่ยวเลยเถิดไปถึงการลักทรัพย์ การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนและฆ่า ซึ่งแต่ละครั้งที่เป็นข่าวก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งหวาดกลัว ไม่อยากมาเมืองไทย

เรื่องอื่นๆ ที่เป็นจุดอ่อนของเรามีทั้งเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ และอื่นๆ

สาม หากวิเคราะห์ให้ละเอียดจะทราบว่า การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของจีดีพี ผมหมายถึงในระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลก เพราะยิ่งนับวัน ภาคการผลิตจะยิ่งมีบทบาทน้อยลง และภาคบริการมีความสำคัญสูงขึ้น โดยการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของภาคบริการ

มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าและเร็วกว่าภาคการผลิต ด้วยเหตุนี้ เราไม่ควรมองข้ามภาคเศรษฐกิจที่สำคัญนี้ในการวางแผนอนาคตของประเทศ เราไม่ควรหวังจะได้ประโยชน์จากมันโดยไม่ลงทุนลงแรงใดๆ แต่ควรพยายามพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเต็มความสามารถ

ข้อสุดท้าย ผมไม่อยากให้เราตั้งอยู่ในความประมาท ที่ผ่านมาเราขยายตัวเร็วเพราะเราได้อานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่อนาคตอาจจะไม่สดใสเท่าในอดีต เพราะนอกจากเศรษฐกิจจีนจะโตช้าลงแล้ว เรายังมีคู่แข่งมากขึ้นทั้งในและนอกภูมิภาค ยกตัวอย่างมาเลเซีย ในหลายปีหลังเขามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของเขามาก ผมลองไปดูตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวของเขา พบว่าสูงขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ปัจจุบันอยู่ห่างจากเราไม่มากอย่างที่คิด

แต่ที่น่ากลัวกว่าคือประเทศอย่างเกาหลีหรือญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ในอดีตเขาไม่เคยสนใจเรื่องการท่องเที่ยว ปัจจุบันเขามีการส่งเสริมอย่างจริงจังและเป็นระบบ นอกจากเขาจะสะอาด ปลอดภัยและเป็นระเบียบกว่าเราแล้ว เขายังมีจุดเด่นด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรด้อยกว่าเรา

ที่สำคัญ เขามีประสิทธิภาพและทรัพยากรที่จะทุ่มเทให้กับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ บางอย่างเราไม่มีหนทางต่อสู้ด้วยซ้ำไป เช่น โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

หากเราไม่รีบพัฒนาและปรับปรุง ผมเชื่อว่าภายในไม่กี่ปีโตเกียวจะแซงกรุงเทพฯ ทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว