posttoday

เลขาธิการยูเอ็นเรียกร้องนานาชาติช่วยวิกฤตอดอยากในโซมาเลีย

08 มีนาคม 2560

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เดินทางเข้าเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และโรคระบาดในโซมาเลีย

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เดินทางเข้าเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และโรคระบาดในโซมาเลีย  

ในระหว่างการเดินทางเยี่ยมชมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และอหิวาตกโรคในโซมาเลีย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ออกมาเรียกร้องการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อบรรเทาวิกฤตปัญหาดังกล่าว

"ทุกๆคนที่เราได้พบเจอล้วนแต่กำลังทนทุกข์ทรมาณ ซึ่งไม่อาจบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้" กูเตอร์เรสกล่าวหลังพบกับชาวโซมาเลียพ่ายผอมเหลือเพียงหนังติดกระดูกทั้งหญิง ชาย และเด็กๆ ในเมือง Baidoa ที่ห่างไปจากกรุงโมกาดิชู เมืองหลวง ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 243 กิโลเมตร

วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากภัยแล้งยาวนาน ที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสะอาด และก่อให้เกิดปัญหาการระบาดของอหิวาตกโรค ขณะนี้มีประชาชนชาวโซมาเลียจำนวนกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบ และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้นกูเตอร์เรสยังได้เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้พลัดถิ่น ที่ประชาชนส่วนใหญ่ล้วนหนีเอาชีวิตรอดจากภัยแล้ง และการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับ หลายครอบครัวต้องทนหิวโหย และอาศัยอยู่ในเพิงพลาสติกอันบอบบางเท่านั้น

"เราไม่เหลืออะไรเลย และแทบไม่ได้รับอาหารที่นี่ หรือแม้แต่ได้รับการปกป้อง" Deira Mohamed ชายวัย 34 ปีกล่าว เขาอาศัยอยู่ร่วมกับลูกสาววัย 10 ขวบของเขาที่ขณะนี้กำลังป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ในขณะที่ลูกอีกคนของเขานั้นเพิ่งจะเสียชีวิตไปจากโรคท้องร่วง

เลขาธิการยูเอ็นเรียกร้องนานาชาติช่วยวิกฤตอดอยากในโซมาเลีย ทารกที่ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารอยู่ในอ้อมอกของแม่ พวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายพักของกรุงโมกาดิชู ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โซมาเลียเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่สหประชาชาติประกาศว่ากำลังเผชิญกับภาวะทุพภิกขภัย และยื่นอุทธรณ์ไปยังนานาประเทศเพื่อขอเงินสนับสนุนความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอีก 3 ประเทศคือ ไนจีเรีย เยเมน และซูดานใต้

 

เมื่อต้นสัปดาห์ทางการโซมาเลียเพิ่งจะประกาศผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ว และโรคระบาดว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 110 คน ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง

ด้านประธานาธิบดี Mohamed Abdullahi Mohamed แห่งโซมาเลียผู้เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา กล่าวในระหว่างการพบปะกับเลขาธิการยูเอ็นว่า ขณะนี้หน้าที่สำคัญของรัฐบาลคือการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ

ทั้งนี้โซมาเลียเองเป็น 1 ใน 6 ประเทศมุสลิมที่ถูกแบนห้ามเข้าสหรัฐ โดยคำสั่งใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งผู้นำโซมาเลียเองให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาความมั่นคงของประเทศนั่นคือการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายอัลชาบับ