posttoday

จีนคุมความเสี่ยงลดเป้าเศรษฐกิจ

06 มีนาคม 2560

ทิศทางนโยบายของจีนได้เปลี่ยนไปสู่การควบคุมความเสี่ยงและลดขนาดฟองสบู่ลง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ประกาศปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้มาอยู่ที่ราว 6.5% หรือสูงกว่านั้นหากเป็นไปได้ จากที่เคยใช้เป้าหมาย 6.5-7% ในปีที่แล้ว โดยหันมามุ่งเน้นที่การลดความเสี่ยง การปฏิรูป และการรับประกันเสถียรภาพในระยะยาวแทน ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) ซึ่งเปิดฉากขึ้นวันแรกในวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การลดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลายสำนักก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจีนจะยังคงกรอบเป้าหมายเดิมเหมือนปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจจีนปี 2016 ขยายตัวได้ 6.7% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี

ในการประชุมสภาของจีนซึ่งจัดขึ้นทุกปี เพื่อแถลงทิศทางเศรษฐกิจจีนประจำปี หลี่ กล่าวว่า จะลดเป้าหมายปริมาณเงินในระบบปีนี้ลงจากโต 13% ในปีที่แล้ว เหลือ 12% พร้อมคงเพดานการขาดดุลงบประมาณเท่าเดิมที่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี และคงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 3%

ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยว่าจะยังคงใช้นโยบายการคลังเชิงรุกต่อไป และคงนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง นอกจากนี้รัฐบาลกรุงปักกิ่งจะเน้นย้ำการปฏิรูปอุปทาน (Supply-side) และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมความเสี่ยงในภาคการเงิน

“ในภาพรวมนั้น ทิศทางนโยบายของจีนได้เปลี่ยนไปสู่การควบคุมความเสี่ยงและลดขนาดฟองสบู่ลง ซึ่งหมายความว่านโยบายการเงินจะค่อยๆ ปรับไปสู่ทิศทางที่ตึงตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” โจว เหา นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายตลาดเกิดใหม่ของธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ กล่าวกับรอยเตอร์ส

เฝ้าระวังความเสี่ยงเป็นหลัก

ผู้นำจีนยังตอกย้ำว่า จีนควรมีการตั้งรับที่สูงขึ้นต่อความเสี่ยงในภาคการเงิน ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้เสีย ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารเงา และการเงินออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันการลดระดับหนี้ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังจีนได้ระบุในรายงานวันเดียวกันว่า จะเร่งลดความเสี่ยงหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นลง

“ในภาพรวมขณะนี้ เราสามารถควบคุมความเสี่ยงอย่างเป็นระบบได้แล้ว แต่เราก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ถึงความเสี่ยงสะสมอื่นๆ เราจะทำให้มั่นใจได้ว่าภาคการเงินมีระบบระเบียบ และจะสร้างกำแพงขึ้นปกป้องความเสี่ยงของภาคการเงิน” หลี่ กล่าว

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของจีนได้ขยายตัวแตะระดับ 277% ในปี 2016 จาก 254% ในปีก่อนหน้า ซึ่งยูบีเอสระบุว่า หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการกู้ยืมเพื่อชำระส่วนของหนี้เดิม ขณะที่สถาบันการเงินจีนปล่อยสินเชื่อในปี 2016 ทุบสถิติสูงสุดที่ 12.65 ล้านล้านหยวน (ราว 64 ล้านล้านบาท) และในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปล่อยกู้ในสกุลเงินหยวนทุบสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 ที่ 2.03 ล้านล้านหยวน (ราว 10.3 ล้านล้านบาท)

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ได้ระบุในรายงานว่า การดำเนินกระบวนการลดหนี้ควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพคล่องและฟองสบู่สินทรัพย์        

เร่งลดการผลิต-คุมมลพิษ

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญของทิศทางเศรษฐกิจปี 2017 ยังรวมถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งสื่อของจีนรายงานก่อนหน้านี้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจีนกว่า 100 แห่ง จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดึงเงินเอกชนเข้ามาลงทุนเพื่อฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา ซึ่งทางการจีนระบุว่าจะปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ปิดตัวลงไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์ซี) ระบุในรายงานที่แถลงต่อสภาวานนี้ว่า จะสั่งปิดหรือระงับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 50 ล้านกิโลวัตต์ นอกจากนี้จะลดกำลังการผลิตเหล็กลง 50 ล้านตัน และถ่านหินกว่า 150 ล้านตันในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมสร้างงานใหม่กว่า 11 ล้านอัตรา เพื่อโยกย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีจีนยังให้คำมั่นจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ลง 3% และควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในบางพื้นที่ หลังจากที่จีนประสบปัญหาฝุ่นควันและมลพิษอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา

“ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการควบคุมปัญหาหมอกควัน เราจะได้เห็นวันที่ฟ้ากระจ่างใสมากขึ้นหากเราร่วมมือกัน” หลี่ กล่าว