posttoday

ทีมนักวิจัยอียิปต์พัฒนาพลาสติกที่ทำมาจากเปลือกกุ้ง

05 มีนาคม 2560

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไนล์ในอียิปต์เดินหน้าพัฒนาพลาสติกจากเปลือกกุ้งเพื่อให้สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไนล์ในอียิปต์เดินหน้าพัฒนาพลาสติกจากเปลือกกุ้งเพื่อให้สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากและเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน นับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเรื้อรังที่ทั่วโลกพยายามหาทางแก้ไข โดยเมื่อไม่นานนี้ทีมนักวิจัยจากอียิปต์ขยับเข้าใกล้การแก้ปัญหาดังกล่าวอีกขั้น จากความสำเร็จในการนำเปลือกกุ้งไปพัฒนาเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

รอยเตอร์สรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไนล์ในอียิปต์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮมในอังกฤษ ริเริ่มโปรเจกต์ทดลองระยะเวลา 2 ปี ดังกล่าวขึ้นมา โดยหลังผ่านไปเพียง 6 เดือน ทีมงานสามารถพลาสติกตัวต้นแบบที่มีความใสและบางมากขึ้นมาได้ ด้วยการใช้สารไคโตซาน ซึ่งพบในเปลือกของสัตว์น้ำเปลือกแข็งเป็นส่วนประกอบหลัก

ไอรีน ซามี หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ทีมงานไปกว้านซื้อเปลือกกุ้งเหลือทิ้งราคาถูกจำนวนมากจากร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และชาวประมง จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อผลิตเป็นแผ่นพลาสติก

แม้ว่าขณะนี้พลาสติกที่ผลิตได้ด้วยการใช้เทคนิคดังกล่าวยังคงมีขนาดเล็ก และยังไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ แต่ทีมงานกำลังพัฒนาเทคนิคการผลิต กระบวนการทางเคมี และคุณสมบัติของพลาสติก เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง

“ขณะนี้เรากำลังพัฒนาคุณสมบัติของพลาสติกต้นแบบ เช่น ความทนทานและความเสถียรต่อความร้อน ซึ่งในอนาคตหากมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พลาสติกชนิดนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออกอาหารได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติต่อต้านจุลินทรีย์และแบคทีเรีย”ซามี กล่าว โดยทีมงานคาดหวังว่าพลาสติกชนิดใหม่นี้จะสามารถนำไปใช้แทนถุงพลาสติกใส่สินค้าและใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ การนำเปลือกกุ้งมาผลิตพลาสติกยังช่วยลดปริมาณขยะจากเปลือกกุ้งได้ถึง 1,000 ตัน ซึ่งมาจากการที่อียิปต์นำเข้ากุ้งราว 3,500 ตัน ในขณะนี้ นับเป็นการนำขยะเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภาพ...เอเอฟพี