posttoday

ค้นพบแทรพพิสต์-1 ความหวังสู่สิ่งมีชีวิตใหม่

26 กุมภาพันธ์ 2560

นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เต็มไปด้วยดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก

โดย...กิตติณัฏฐ์ จันทร์สุเทพ

ในอดีตนั้น มนุษยชาติต่างพากันเชื่อว่าโลกคือดาวเคราะห์แห่งเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในจักรวาล แต่ด้วยวิทยาการทางอวกาศที่ค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแล้วดวงเล่า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่ในดาวเคราะห์ที่ไม่ใช่โลกอีกหรือไม่

นับจนถึงวันนี้ นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์หลายดวงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม สามารถเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เช่น ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวน 5 ดวง ที่ได้ค้นพบไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ดาวเคราะห์วูลฟ์ 1061ซี (Wolf 1061C) ดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับโลกตั้งอยู่ห่างไปราว 13.8 ปีแสง ดาวเคราะห์กลิซี 832ซี (Gliese 832C) ที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของโลกจนได้ชื่อว่า "ซูเปอร์เอิร์ท" ดาวเคราะห์กลิซี 667ซี (Gliese 667C) ในกลุ่มดาวแมงป่อง ที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกราว 22 ปีแสง ดาวเคราะห์กลิซี 163ซี (Gliese 163C) ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง และล่าสุด ดาวแทรพพิสต์-1ดี (TRAPPIST-1d) ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) ได้สร้างความตื่นเต้นขึ้นทั่วโลก จากการค้นพบกลุ่มดาวแทรพพิสต์-1 ที่ไม่ได้เป็นเพียงฝุ่นผงที่เกาะอยู่บริเวณปลายกล้องโทรทรรศน์ แต่เป็นดาวเคราะห์ 7 ดวง ขนาดเท่ากับโลกและโคจรอยู่ในระบบดาวใกล้เคียง และที่สำคัญคือดาวเคราะห์บางดวงมีความสามารถในการกักเก็บน้ำและอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศดังกล่าว ทำให้ กูเกิล เสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังเข้าร่วมฉลองความสำเร็จในการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่เหล่านี้ โดยปรับเปลี่ยนภาพในหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ให้กลายเป็นรูปของโลกที่กำลังส่องกล้องโทรทรรศน์จนไปพบเจอเพื่อนดาวเคราะห์ใหม่ทั้ง 7 ในพื้นที่อันห่างไกล

ค้นพบแทรพพิสต์-1 ความหวังสู่สิ่งมีชีวิตใหม่

ไขปริศนาระบบกลุ่มดาวแทรพพิสต์-1

กลุ่มดาวแทรพพิสต์-1 มาจากชื่อของกล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ (TRAPPIST) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาวลาซียาในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี ที่ค้นพบกลุ่มดาวเหล่านี้ได้ในปี 2016 โดยนาซาระบุว่า กลุ่มดาวแทรพพิสต์ตั้งอยู่ห่างจากโลกไปราว 40 ปีแสง หรือประมาณ 378 ล้านล้านกิโลเมตร

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มดาวแทรพพิสต์ประกอบด้วย ดาวฤกษ์ 1 ดวง คือดาวแทรพพิสต์-1 ขนาดเท่ากับดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีดาวเคราะห์ทั้งหมด 7 ดวงโคจรล้อมรอบ โดยนาซ่าตั้งชื่อดาวเคราะห์ดังกล่าวไล่ไปตั้งแต่ แทรพพิสต์-บี ถึง แทรพพิสต์-เอช

ทั้งนี้ กลุ่มดาวแทรพพิสต์-1 มีการเรียงตัวใกล้กันมาก ทำให้มีวงโคจรที่แคบ ซึ่งมีขนาดเท่ากับวงโคจรของดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์วงในสุดของระบบสุริยะของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ระยะเวลาในการโคจรรอบดาวฤกษ์ของกลุ่มดาวเคราะห์จึงใช้เวลาไม่นานนัก โดยอยู่ที่ราว 1-20 วัน

เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงอยู่ใกล้กันมาก เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบได้เหมือนที่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ขนาดยักษ์ได้จากโลก นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมองเห็นพื้นผิวของดาวเคราะห์ มหาสมุทรและก้อนเมฆของดาวที่อยู่ใกล้เคียงได้ด้วยเช่นกัน

หวังลุ้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่

นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เต็มไปด้วยดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก ซึ่งเป็นดาวเคราะห์หินเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยดาวเคราะห์ทั้งหมด 7 ดวง มีขนาดใกล้เคียงหรือเท่ากับโลกหรือดาวศุกร์ หรือไม่ก็เล็กกว่าเพียงเล็กน้อย และแม้ว่าดาวเคราะห์ต่างๆ จะเรียงตัวใกล้ดาวฤกษ์มาก แต่ก็กลับไม่ทำให้อุณหภูมิของดาวเคราะห์สูงมากนัก เนื่องจากดาวฤกษ์เป็นประเภทดาวแคระแดงที่เย็นมากเป็นพิเศษ และแผ่รังสีได้น้อยกว่าดวงอาทิตย์ 200 เท่า โดยในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด 7 ดวงนั้น ดาวเคราะห์ 6 ดวงมีอุณหภูมิบริเวณพื้นผิวดวงดาวอยู่ในระหว่าง 0-100 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ของนาซ่า เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์ 3 ดวง มี "โกลิล็อกโซน" ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ในปริมาณที่ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีมหาสมุทรอยู่บนดวงดาวอีกด้วย

สภาพแวดล้อมที่ดูเหมาะสมของกลุ่มดาวก่อให้เกิดความหวังว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเหล่านี้เสียก่อน จึงจะสามารถยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้มีสภาพเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้จริงหรือไม่