posttoday

ชาติเอเชียแห่เอาใจ'ทรัมป์'

08 กุมภาพันธ์ 2560

ประเทศเอเชียหยุดค่าเงินอ่อนชั่วคราว หวังใช้ต่อรองทวิภาคีสหรัฐ ด้านยุโรปโต้ไม่เอี่ยวปั่นค่าเงิน ขณะที่ ทุนสำรองจีนร่วงหนักสุด6ปี

ประเทศเอเชียหยุดค่าเงินอ่อนชั่วคราว หวังใช้ต่อรองทวิภาคีสหรัฐ ด้านยุโรปโต้ไม่เอี่ยวปั่นค่าเงิน ขณะที่ ทุนสำรองจีนร่วงหนักสุด6ปี

แปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจ เมนท์ (พิมโค) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังหาทางใช้นโยบายการเงินที่ไม่ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ก่อนที่นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ จะเจรจาข้อตกลงทวิภาคีกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ หลังทรัมป์โจมตีว่าญี่ปุ่นและจีนจงใจอ่อนค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก

พิมโค เปิดเผยว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น 0.15% สูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังบีโอเจซื้อคืนพันธบัตรน้อยไปนั้น เป็น "อุบาย" ของบีโอเจที่ทั้งต้องการคุมผลตอบแทนพันธบัตรที่ 0% ขณะที่ไม่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับลง 4.4% เมื่อเทียบค่าเงินเยน อยู่ที่ 111.88 เยน ระหว่างการซื้อขายวันที่ 7 ก.พ. หลังแข็งค่าขึ้นกว่า 15% ในไตรมาส 4 ปี 2016

อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์ของทรัมป์ยังทำให้เกาหลีใต้วิตกว่าจะโดนสหรัฐขึ้นบัญชีเข้าข่ายปั่นค่าเงิน โดยกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ทางการไม่ได้ใช้นโยบายใดเข้าแทรกแซงค่าเงินเลย ด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ ระบุว่า ตลอดเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้นถึง 5.2% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเกาหลีใต้เตรียมชี้แจงผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2012 โดยอ้างถึงการส่งออกรถและการจ้างงานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น จากการลงทุนของเอกชนเกาหลีใต้ หลังสหรัฐระบุว่าจะทบทวนเอฟทีเอดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) เปิดเผยว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนร่วงลง 1.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.31 แสนล้านบาท) อยู่ที่ 2.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 104 ล้านล้านบาท) ในเดือน ม.ค. ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2011 และเป็นครั้งแรกที่ทุนสำรองของจีนต่ำกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการนำทุนสำรองไปใช้สกัดค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า 6.5% ร่วงหนักเกือบ 20 ปี

ด้าน มาริโอ ดรากี ประธานธนาคาร กลางยุโรป (อีซีบี) ตอบโต้ข้อกล่าวหาของทรัมป์ที่ระบุว่า เยอรมนีใช้ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าเกินความเป็นจริงมาเอาเปรียบสหรัฐทางการค้า

"อีซีบีไม่ได้แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเลยนับตั้งแต่ปี 2011 และการค้าเกินดุลของเยอรมนีเป็นผลจากศักยภาพการผลิตที่ปรับตัวขึ้น" ดรากี กล่าว