posttoday

กีดกันการค้า

27 สิงหาคม 2553

ช่วงราวกว่าปีก่อน ยุคปลายสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ช่วงราวกว่าปีก่อน ยุคปลายสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

โดย...ธนพล ไชยภาษี [email protected]

ช่วงราวกว่าปีก่อน ยุคปลายสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีการปลุกกระแสให้โลกระวังลัทธิปกป้องตัวเองทางเศรษฐกิจ (Protectionism) หรือการกีดกันการค้า ที่กำลังจะตามมาตามแนวนโยบายของพรรคเดโมแครต ที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างแน่นอนแล้วในขณะนั้น

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสความหวาดวิตกกันว่าแต่ละประเทศจะงัดมาตรการกีดกันการค้ามาใช้ เพราะต่างคนต่างก็ต้องเอาตัวรอดกัน จะมาเสรีนิยม ทำการค้ากันอย่างแฟร์จ๋ากันเห็นจะไม่ได้แล้ว

แต่ดูเหมือนว่าในขณะนี้ กระแสเศรษฐกิจโลก จะลืมปัญหานี้ไป เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็มุ่งเน้นกันกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกันเสียก่อน เอาตัวให้รอดกันก่อน

เพราะเหตุนี้ละครับ ที่ทำให้การกีดกันทางการค้าได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายครั้ง หลายประเทศก็ยินยอมให้เกิดขึ้นโดยทั้งที่รู้ว่าขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก และในบางกรณีก็เกิดขึ้นเพราะความจำใจ
อย่างเช่นกรณีของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐที่ยื่นล้มละลายไปเมื่อปีก่อน ซึ่งก็ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ที่สำคัญคือรัฐบาลสหรัฐอัดเงินเข้ามาถือหุ้น จะว่าไปก็เป็นเสมือนการอุดหนุนบริษัทของตัวเอง เป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา หลายประเทศได้ใช้มาตรการกระตุ้นผ่านโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้บริษัทรับเหมาภายในชาติ หรือของรัฐบาลเอง และหากจะจัดซื้อจัดจ้าง ก็จัดหาจากในประเทศเอง โดยไม่มีการเปิดให้ประมูลกันอย่างเสรี กรณีนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นบราซิล และจีน เพราะว่ามีหลายประเทศที่ไม่ได้ลงนามข้อห้ามในเรื่องนี้กับองค์การการค้าโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีการคิดแนวทางการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการนำคำว่าโลกร้อนมาเป็นข้ออ้าง อย่างการผ่านกฎหมายพลังงานสหรัฐ ของสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็เข้าข่ายการกีดกันการค้าประเภทหนึ่ง เพราะสินค้าจากประเทศไหนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การลดก๊าซคาร์บอนก็จะถูกเก็บภาษีแพงกว่า

ขณะนี้โลกกำลังยิ่งฮิตกับการเจรจาทวิภาคี ร่วมมือการค้าระหว่างกันในแบบสัมพันธ์พิเศษ นักวิเคราะห์เขาบอกว่า นี้แหละครับเป็นการกีดกันทางการค้าตัวดีเลย เพราะจะเอื้อภาษีระดับต่ำให้กับประเทศลงนามด้วยเท่านั้น ประเทศอื่นไม่เกี่ยวก็เจอภาษีสินค้าแพงไป

และหากมีการฟ้องร้องระหว่างประเทศกันขึ้น กว่ากระบวนการการลงโทษขององค์การการค้าโลกก็กินเวลาช้ามาก หลายประเทศจึงไม่กลัวที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าครับ
ที่สำคัญที่สุด หลายประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนาต่างก็ไม่อยากจะทำให้เป็นเรื่องใหญ่ หากถูกประเทศมหาอำนาจใช้การกีดกันทางการค้า เพราะว่าในอนาคตต้องพึ่งพากันอีกมาก ปล่อยเลยได้ก็ดีเสียอย่างนั้น

นี่แหละครับ การกีดกันทางการค้ากำลังดุเดือดในโลกเศรษฐกิจในวันนี้