posttoday

นักวิทย์พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีให้มนุษย์

26 ตุลาคม 2559

นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษและสหรัฐทดลองพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ตัดสินคดีความ พบตัดสินแม่นยำเหมือนมนุษย์ถึง 79%

นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษและสหรัฐทดลองพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ตัดสินคดีความ พบตัดสินแม่นยำเหมือนมนุษย์ถึง 79%

ปัญญาประดิษฐ์ จักรกลวิเคราะห์ข้อมูลและสั่งการการทำงานตัวเองได้ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์ของมนุษย์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ล่าสุดได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษและสหรัฐ ให้สามารถพิจารณาคดีได้ผลถูกต้องแม่นยำเหมือนเจ้าหน้าที่ตัดสินเองถึง 79% โดยทดสอบกับการตัดสินระดับโลกอย่างศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป

นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ศูนย์จิตวิทยาเชิงบวก และศูนย์คอมพิวเตอร์และข้อมูล มหาวิทยาลัยเพนซิลซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ ออกแบบพัฒนาระบบอัจฉริยะวิเคราะห์ผลการตัดสินคดีความ และทดสอบความเที่ยงตรงระหว่างการประเมินของระบบและผู้พิพากษามนุษย์

ด้วยการใส่ข้อมูลเป็นสาระสำคัญเนื้อความของคดีความ โดยคดีเหล่านี้มีผลตัดสินจากคณะพิพากษาจริงแล้ว ซึ่งนักวิจัยจะดูว่าระบบสามารถประมวลผลได้ตรงกับคนหรือไม่

ทีมนักวิจัยให้ระบบประมวลข้อมูลคดีของศาลทั้งหมด 584 กรณี ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรากฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 3 ว่าด้วยการทรมานที่ต้องห้าม มาตรา 6 ว่าด้วยสิทธิ์ที่จะได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และมาตรา 8 ว่าด้วยการเคารพต่อชีวิตส่วนตัว ซึ่งทั้ง 3 มาตราผ่านการยอมรับหรือให้สัตยาบันโดยชาติสมาชิกยุโรปถึง 47 ชาติ

ก่อนที่จะป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จะทำการศึกษาข้อมูลทางการศาลที่ซับซ้อนด้วยการวิเคราะห์ตัวบทกฎหมายและการพิจารณา รวมถึงการใช้ภาษาอธิบายชี้แจงแบบนักกฎหมาย ด้านการวิเคราะห์ จะมีขั้นตอนการเข้าสู่ชั้นศาลของคดีความ ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในคดี กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่ใช้ในคดี โดยทีมนักวิจัยยังตรวจสอบลึกไปถึงฝ่ายที่ยื่นสำนวนคดีบ้าง และการพิจารณาของผู้พิพากษาก่อนสรุปผล ต่อมา นักวิจัยจะคัดแยกเอาค่าความน่าจะเป็นของชุดตัวอักษรที่รวมเป็นคำ ซึ่งมาจากข้อมูลการวิเคราะห์กฎหมายข้างต้น เพื่อแบ่งข้อมูลออกเป็นหัวข้อต่างๆ

จากนั้น นักวิจัยก็ใช้ระบบจัดแบ่งกลุ่มซัพพอร์ตเวคเตอร์แมชชีน (SVM) ที่มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีข้อมูลมาให้และแต่ละข้อมูลถูกจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งจากสองประเภท SVM จะสร้างแบบจำลองที่พยากรณ์ได้ว่าตัวอย่างใหม่ที่ถูกป้อนให้ระบบวิเคราะห์ น่าจะตกอยู่ในกลุ่มใด ในการทดลองนี้จะตรวจดูว่า ข้อมูลกลุ่มใดที่ใกล้เคียงกับผลการพิจารณาคดีมากที่สุด ซึ่งปรากฏว่าระบบใช้วิธีแบ่งข้อมูลตามหัวข้อและเหตุการณ์ของคดีแล้วให้พยากรณ์ผลตัดสินใกล้เคียงผู้พิพากษาแบบปกติมากที่สุดถึง 79%

ถึงกระนั้น ทางเจ้าของผลงานการทดลองไม่คิดว่าระบบ AI จะสามารถมาแทนผู้พิพากษาหรือทนายมนุษย์อย่างเต็มตัวในเวลานี้ แต่เหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นผู้ช่วยพิจารณาคำร้องที่ยื่นฟ้องเข้ามาในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ว่าเข้าข่ายสมควรรับการพิจารณาหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบัน คำร้องที่ส่งมายังศาลมีจำนวนมหาศาลมาก จนทำให้เกิดความล่าช้าอย่างแสนสาหัส เป็นต้นว่า เมื่อปีที่แล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนฯ สามารถพิจารณาคดีได้เพียง 823 คดี แต่ยังมีอีกกว่า 43,100 คดี ที่ยังรอการพิจารณาหรือถูกปัดทิ้งไป