posttoday

โลกสะท้อนมุมมอง "กษัตริย์แห่งแผ่นดินไทย"

16 ตุลาคม 2559

ความรับรู้ที่มีต่อ "พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย" ของผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ได้เข้าเฝ้าฯและติดตามทำข่าวในหลวงรัชกาลที่9

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ในฐานะที่เป็นนักข่าวต่างชาติ ความรับรู้ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอาจแตกต่างออกไปจากประชาชนคนไทยทั่วไป เพราะไม่ได้ผ่านประสบการณ์ตรงหรือความผูกพันในฐานะคนในชาติ แต่มาจากการอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ และติดตามพระราชกรณียกิจในปัจจุบันของพระองค์ ผู้ยังทรงดำเนินบทบาทของธรรมราชา อันเป็นแบบอย่างอันดีตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ธำรงมายาวนาน

ทว่าสำหรับ เดนนิส ดี เกรย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าวเอพีซึ่งทำข่าวในไทยและประเทศโดยรอบมานานกว่า 40 ปี การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง เมื่อปี 2551 ทำให้มุมมองและการรับรู้ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ของไทยเปลี่ยนไป

เกรย์ได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อการเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดสูทแบบตะวันตก ทรงประทับอย่างผ่อนคลายพระอิริยาบถบนพระเก้าอี้ และทรงแย้ม พระสรวลให้ พระองค์ดูจะทรงยินดีกับการสนทนาอันหลักแหลมกับกลุ่มนักข่าวต่างประเทศกลุ่มเล็กในครั้งนี้ 

บรรยากาศและภาษาในบทสนทนาครั้งนั้นต่างออกไปจากพระราชดำรัสตามปกติ เกรย์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มักจะทรงคั่นระหว่างมีพระราชปฏิสันถารด้วยเรื่องเล่าที่ออกรสและเรื่องขำขันโดยภาษาอังกฤษอย่างไร้ที่ติ มีพระราชปฏิสันถารเรื่องดนตรีแจ๊ซ พระราชวงศ์ การมีพระชันษามากขึ้น เหล่าสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรด กีฬากอล์ฟ ไปจนถึงเรื่องเขื่อน

เกรย์ถ่ายทอดเรื่องราวของค่ำคืนที่ยังจดจำได้ดีมาจนถึงวันนี้แม้ผ่านมา 8 ปีแล้วว่า รับรู้ได้ถึงอีกด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่ถือพระองค์และทรงเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ทรงมีพระอารมณ์ขัน ทรงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และทรงผสานความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นไทยพุทธได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นเพราะการถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

“แม่ของเราจะชมเมื่อเราทำบางอย่างที่ดี แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็บอกเราว่า อย่าลอยนะ เหมือนกับท่านใส่เราเข้าไปในลูกบอลลูน แล้วค่อยเจาะลูกบอล” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะมีพระราชปฏิสันถารกับ เดนนิส ดี เกรย์ เมื่อครั้งปี 2525

ทว่า เกรย์ยังรับรู้ได้ถึงความไม่สำราญพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ซึ่งคุณค่าทางจริยธรรมลดลง แต่เปิดรับการเห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง และค่านิยมที่มองการหิวกระหายเป็นเรื่องดี ซึ่งพระองค์ทรงเคยส่งสัญญาณทางอ้อมเรื่องนี้ในพระราชดำรัสที่มีต่อประชาชนในบางโอกาส

ผู้สื่อข่าวอาวุโสของเอพี ระบุว่า ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่มีโอกาสได้ติดตามพระองค์ท่านเป็นครั้งแรกไปทำข่าวพระราชกรณียกิจในไทย ตั้งแต่พื้นที่ภูเขาในภาคเหนือ นาข้าวของภาคอีสาน ไปจนถึงชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเวลานั้น ประชากรชาวไทยถึงราว 80% ยังกระจายตัวตามพื้นที่ชนบททั่วประเทศ โดยประเทศไทยก็ยังไม่ได้เป็นขุมพลังใหม่ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมพลวัตของโลก และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนดังเช่นปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ทศวรรษ 1970 เป็นทศวรรษสุดท้ายของไทยในยุคสมัยเดิมที่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม หมู่บ้านที่งดงาม และความยากจนที่ปกคลุมไปทั่ว

ทว่าในขณะเดียวกันก็ยังเป็นทศวรรษแห่งการริเริ่มสร้างประเทศใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีพระราชดำริและทรงเฝ้าติดตามเป็นการส่วนพระองค์ในโครงการต่างๆ ตั้งแต่สาธารณสุข การศึกษา การลดความยากจน การบริหารจัดการน้ำ และการขจัดการปลูกฝิ่น

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายนี้ ระบุด้วยว่า พระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงมากขณะมีพระชนมพรรษาในช่วงวัย 40 พรรษา โดยจะทรงวิ่งออกกำลังกายวันละ 3 กิโลเมตร ตามด้วยการวิดพื้น ในขณะที่เกรย์สามารถลดน้ำหนักลงได้มากด้วยการติดตามพระองค์ไปในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามพื้นที่เขาสูงลาดชัน โดยในครั้งหนึ่งระหว่างที่เสด็จฯ เยือนสถานีทดลองแปลงเกษตรใน จ.เชียงใหม่ พระองค์ทรงทำงานอย่างไม่รู้เหนื่อยจนถึงตี 2 ของวันถัดไป

“พวกเขาบอกว่าอาณาจักรก็เป็นเหมือนกับพีระมิด มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดสุด และประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่ที่ประเทศนี้กลับหัวกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งเราถึงปวดบริเวณแถวๆ นี้” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระสรวลกว้างและชี้ไปที่พระอังสา (ไหล่) ของพระองค์ ขณะมีพระราชดำรัสต่อเกรย์