posttoday

สังคมผู้สูงอายุ

24 สิงหาคม 2553

กระทรวงสาธารณสุขของไทย บอกว่า ภายในปี 2568 ทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุถึง 800 ล้านคน

กระทรวงสาธารณสุขของไทย บอกว่า ภายในปี 2568 ทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุถึง 800 ล้านคน

โดย...ธนพล ไชยภาษี

ส่วนไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2568 เช่นเดียวกัน โดยปริมาณผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 22% จากที่ 18% และผู้สูงอายุเหล่านี้ล้วนแต่จะมีผลกระทบด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต่างไม่ต้องการ เพราะแน่นอนว่าเมื่อประเทศมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น นั่นหมายความว่าจำนวนประชากรแรงงาน ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ปัญหานี้จะหนักหนาสาหัสขึ้นอีกในประเทศที่มีอัตราการกำเนิดของทารกต่ำ เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยเฉพาะสิงคโปร์นั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถึงกับต้องกระตุ้นให้ประชากรเร่งสืบพันธุ์ให้กำเนิดทายาทกัน

ส่วนในญี่ปุ่นนั้น ปัญหาของความเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้นได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาหลายปีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าจะทำให้รัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการบริการสวัสดิการสังคมให้กับคนชรา และการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้กับผู้สูงอายุเหล่านี้

อีกทั้งเป็นที่รู้ดีกันว่า แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะเป็นสังคมที่มีการออมสูง แต่ทว่าผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะนำเงินไปใช้ในต่างประเทศที่มีค่าครองชีพถูกกว่า

ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายมาก แต่ในขณะเดียวกันปริมาณเงินก็ไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่องจากที่ผู้สูงอายุได้นำไปใช้ในต่างประเทศที่ถูกกว่า ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดต่อเนื่องมาหลายปีเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น คำว่าสังคมผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ไทยไม่เคยเจอมาก่อน และภาครัฐไทยก็ไม่เคยเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้มาก่อนเช่นเดียวกัน

แค่คาดว่าปัญหานี้ไม่น่าจะกระทบต่อภาคแรงงานของไทยเท่าไหร่ เพราะเราไม่มีปัญหาอัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำเหมือนในญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีโครงการสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นจริงเป็นจังที่จับต้องได้ชัดเจน

พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้สูงอายุในเมืองไทยไม่มีหลักประกันที่มั่นคงเหมือนในญี่ปุ่น ส่วนที่มีอยู่อย่างระบบสวัสดิการสังคมนั้นก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่คลอบคลุม

และเมื่อเมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือตัวประชาชนเองนั่นแหละครับ

สถานะของคนไทยจึงต่างจากคนญี่ปุ่น หรือคนในประเทศพัฒนาแล้ว ที่เราต้องช่วยตัวเองมาตลอด ใครพอมีเงินก็ต้องพึ่งพาการซื้อประกันชีวิตไว้ดูแลตัวเองตอนแก่ ส่วนใครไม่มีก็ต้องพึ่งลูกหลาน หากพึ่งไม่ได้ ก็จบเห่กันไป

สถานะของผู้สูงอายุในแต่ละประเทศถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดของระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศได้อย่างดีทีเดียวล่ะครับ